หมอแนะเดินทางไกลช่วงปีใหม่ อย่าลืมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไว้ใช้ใกล้ตัว

รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะประชาชนเตรียมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร    ใช้บรรเทาอาการป่วยในเบื้องต้น พร้อมแนะนำวิธีช่วยให้ร่างกายสดชื่นระหว่างการเดินทางไกลช่วงเทศกาลปีใหม่นี้

นพ.สรรพงศ์ ฤทธิรักษา รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำประชาชนที่ต้อง เดินทางไกลหรือขับรถทางไกลในช่วงเทศกาลปีใหม่ ขอให้เตรียมผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อใช้บรรเทาอาการป่วย  ในเบื้องต้น เช่น ยาหอมอินทจักร์ สรรพคุณแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้ วิงเวียน ทำให้สดชื่น คลายง่วง   ยาอมแก้ไอมะขามป้อม สรรพคุณช่วยบรรเทาอาการขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ยาดมสมุนไพร สรรพคุณบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้สดชื่น ผ่อนคลาย ยาหม่องสมุนไพร/น้ำมันไพล สรรพคุณบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย  ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้เสมอขณะเดินทาง ประชาชนสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป นอกจากนี้ แนะนำให้รับประทานผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะขาม มะยม มะเฟือง ส้ม สัปปะรด มะดัน เป็นต้น เพราะรสเปรี้ยวจากผลไม้ จะช่วยขับเสมหะ มีวิตามินซีสูง ซึ่งทำให้ร่างกายสดชื่น ตื่นตัว ช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉง ส่วนน้ำสมุนไพรนั้น    ควรดื่มน้ำมะนาว น้ำมะขาม น้ำกระเจี๊ยบ เพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย

หากรู้สึกเมื่อยล้าจากการขับรถ ควรหยุดพัก ขอแนะนำวิธีการขยับร่างกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อด้วย    “ท่าฤๅษีดัดตน” ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี มีสมาธิ ลดอาการเครียด โดยมี 3 ท่าที่สามารถทำได้ง่ายๆ    ได้แก่ 1. ท่าแก้เกียจ ช่วยบริหารส่วนแขน โดยเริ่มจากท่าเตรียม นั่งขัดสมาธิ ยกมือขึ้นและกำมือประสานกันไว้ระดับลิ้นปี่ สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมเหยียดแขนดัดให้ฝ่ามือยื่นไปทางด้านซ้ายให้มากที่สุด ลำตัวตรง หน้าตรง แขนตึง             กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับงอแขนทั้งข้างกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำเช่นเดิมแต่เปลี่ยนเป็นเหยียดแขนด้านขวา ด้านหน้า และเหยียดแขนเหนือศีรษะ ตามลำดับ แล้วพักแขนที่ศีรษะแล้วกลับสู่ท่าเตรียม              2. ท่าแก้เข่าขัด ประโยชน์ช่วยบริหารเข่า หลัง เอว โดยเริ่มจากเหยียดขาทั้งสองข้างให้ตรง เท้าชิดกัน มือทั้งสองข้าง            วางไว้หน้าขา หน้าตรง หลังตรง สูดลมหายใจเข้าให้ลึก พร้อมใช้มือทั้งสองข้างนวดตั้งแต่ต้นขาต่อเนื่องไปจนถึงปลายเท้า จากนั้นใช้มือจับปลายเท้าก้มหน้า กลั้นลมหายใจสักครู่ ผ่อนลมหายใจออกคลายมือจากปลายเท้า นวดจากข้อเท้ากลับขึ้นมาจนถึงต้นขา ห้ามในผู้ป่วยที่มีปัญหากระดูกและเส้น 3. ท่าแก้ลมในแขน เป็นการบริหารแขน ข้อมือ และนิ้วมือ            โดยเริ่มจากนั่งท่าเตรียม ชันเข่าข้างซ้ายขึ้น พร้อมกับยื่นแขนซ้ายให้อยู่ระดับหัวไหล่ ห้ามพักมือไว้บนหัวเข่า จากนั้นใช้           มือขวาจับนิ้วมือซ้าย สูดลมหายใจเข้าลึกๆ พร้อมกับออกแรงดันมือข้างซ้ายที่ยืนออกไป ต้านกับการดึงบริเวณนิ้วมือ          ข้างขวาเข้าหาตัว โดยแขนทั้งสองข้างเหยียดตึงกลั้นลมหายใจไว้สักครู่ ผ่อนลมหายใจออกพร้อมปล่อยมือที่จับไว้กางนิ้วมือข้างซ้ายที่ยื่นออกไปให้เต็มที่ กรีดนิ้วหรือพับนิ้วมือลงที่ละนิ้วจนครบ หักข้อมือลงและลดมือมาไว้ข้างตัว ทำซ้ำเช่นเดิม     แต่เปลี่ยนเป็นด้านขวาทำแบบเดิม สลับกันซ้ายขวา ทุกท่าควรทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

หากท่านใดสนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก                   โทรศัพท์ 02 149 5678 หรือที่เว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th