กรมอนามัย ย้ำมาตรการเปิดเรียน ต้องประเมินโรงเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus

กรมอนามัย ย้ำสถานศึกษาต้องประเมิน Thai Stop COVID Plus ส่วนนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาและครอบครัว ประเมินความเสี่ยง Thai Save Thai หากเสี่ยงสูง เข้มมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากาก 100% ป้องกันการแพร่เชื้อในโรงเรียน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวประเด็นการติดเชื้อในโรงเรียน /ศูนย์เด็กเล็ก และการดูแลเด็กปฐมวัยว่า สถานการณ์ติดเชื้อโควิด 19 ตั้งแต่เปิดเรียนวันที่ 14 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2564 มีผู้ป่วยรายใหม่ 903 ราย เป็นเด็ก 0 – 19 ปี 884 ราย ครู 18 ราย และบุคลากรอื่น ๆ 1 ราย ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อสะสม 12,382 ราย พบมากในพื้นที่สีแดงเข้ม คือ กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว และชุมชน

ทั้งนี้ มาตรการป้องกันโควิด 19 ในสถานศึกษาในต่างประเทศ ตีพิมพ์ในวารสารล่าสุด 6 เมษายน 2564 จาก 107 ประเทศ 616 รายงาน พบว่ามาตรการปิดโรงเรียน ไม่มีผลเพียงพอในการควบคุมการระบาด เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ค่าใช้จ่าย รวมทั้งพัฒนาการของเด็กตามมา รวมทั้งข้อมูลของประเทศไทย พบว่าเด็กกลุ่มเปราะบาง พื้นที่ห่างไกล มาโรงเรียนเพื่อได้รับอาหารเช้าและอาหารกลางวันหากปิดเทอมนาน ๆ มีผลต่อภาวะโภชนาการ และมีข้อมูลชัดเจนว่าแนะนำปิดโรงเรียนที่มีแนวโน้มการแพร่เชื้อของเด็กใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ มีการแพร่เชื้อเป็นวงกว้างในชุมชน และจากข้อมูลการระบาดของโรค SARS ในจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่าการปิดโรงเรียนไม่มีผลต่อการควบคุมการแพร่เชื้อ เนื่องจากการแพร่เชื้อในโรงเรียนอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งที่ประเทศอังกฤษ สรุปว่าการปิดโรงเรียนลดการติดเชื้อโควิดได้เพียง 5.6 % ใกล้เคียงกับไข้หวัดใหญ่

นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาพฤติกรรมสุขภาพนักเรียนที่ติดเชื้อระลอกใหม่ในสถานศึกษา เทอมแรก ปีการศึกษา 2564 จำนวน 209 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มไม่ติดเชื้อ 315 คน และมาตรการในโรงเรียนเพียงพอหรือไม่ พบว่า กลุ่มที่ติดเชื้อเทียบกับอัตราการติดเชื้อของผู้ใหญ่จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8-10 เท่านั้น สาเหตุการติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวและชุมชน มีบ้างที่ติดในโรงเรียน เช่น ภาคอีสาน ที่ จ.มหาสารคาม ภาคใต้ที่ จ.ยะลามาจากการรวมกลุ่ม รวมทั้งศูนย์เด็กเล็กในจังหวัดเชียงใหม่และขอนแก่น เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการติดเชื้อ ก่อนเปิดเรียนจะมีการประเมินความเสี่ยงว่ามีความเสี่ยงต่ำ จึงจะอนุญาตให้เข้าโรงเรียนได้ แต่ในส่วนโรงเรียนกลุ่มพิเศษหรือโรงเรียนประจำ แนะนำให้มีการตรวจคัดกรองผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นผู้เสี่ยงต่ำก่อนเข้าโรงเรียน พฤติกรรมที่ทำให้เด็กนักเรียนติด พบว่า เด็กนั่งเรียนด้วยกัน 40 กว่าคน เรียนด้วยกัน 10 กว่าวัน ติดเชื้อเพียง 4-5 คน อัตราการติดเชื้อเพียง 0.2 % ติดจากการนั่ง ติดกับเพื่อน ออกนอกโรงเรียนไปซื้อของกับผู้ปกครองในพื้นที่ที่มีคนจำนวนมาก ปัจจัยปกป้องคือการสวมหน้ากากตลอดเวลาขณะที่อยู่ในโรงเรียนจะไม่ค่อยติดเชื้อ

นายแพทย์สราวุฒิกล่าวต่อว่า กรมอนามัยได้จัดทำแผนเผชิญเหตุ มีมาตรการป้องกันตามระดับการแพร่ระบาด เมื่อพบการติดเชื้อในชุมชน โรงเรียน ครู/นักเรียน สถานศึกษาจะต้องปฏิบัติอย่างไร สำหรับมาตรการในการเปิดเรียนที่ต้องเน้นย้ำ คือ โรงเรียนต้องประเมิน Thai Stop COVID Plus ส่วนนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาและครอบครัว ประเมินความเสี่ยง Thai Save Thai หากเสี่ยงสูง เข้มมาตรการ DMHTT อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากาก 100% โดยเฉพาะครูจะต้องมีการสวมหน้ากาก ใส่เฟสชิล ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุเมื่อมีการติดเชื้อในโรงเรียน/ชุมชน และมีทีมกำกับติดตามเฝ้าระวังการระบาดในโรงเรียน/ชุมชน

ขณะนี้ กทม.ยังไม่ได้เปิดเรียนแต่ยังมีเด็กที่ติดเชื้อเนื่องจากผู้ปกครองออกไปทำงานนำเชื้อกลับมาติดเด็กที่บ้าน เด็กนักเรียนเมื่ออยู่รวมกันไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ มาตรการที่สำคัญคือ การประเมินความเสี่ยงถ้าเด็กมีความเสี่ยงสูงก็ไม่ควรนำมาโรงเรียน ถ้าเป็นไปได้อาจจะต้องจัดการเรียนการสอนเป็นกลุ่มเล็ก สำหรับครูที่ดูแลเด็กก็ต้องประเมินความเสี่ยงของตนเอง มีการจัดการตามคำแนะนำ ผู้ปกครองต้องหมั่นดูแลประเมินความเสี่ยงสังเกต และถ้าเป็นไปได้ไม่ควรให้เด็กไปสถานเลี้ยงเด็ก สำหรับกรณีที่มีเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน โดยทั่วไปส่วนใหญ่เด็กจะไม่มีอาการและไม่พบอาการรุนแรงในเด็ก สามารถปรับศูนย์เด็กเล็กเป็นโรงพยาบาลสนาม มีครูพี่เลี้ยงเป็นผู้ดูแล จัดกิจกรรมให้เด็กและช่วยสังเกตอาการ และให้ผู้ปกครองเข้ามาดูแลเด็กได้ หากมีอาการมากขึ้นส่งต่อไปโรงพยาบาล ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำคู่มือ 3 เล่ม ได้แก่ คู่มือการปฏิบัติสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คู่มือการเฝ้าระวังติดตามและแผนเผชิญเหตุในสถานศึกษา และแนวปฏิบัติยกระดับความปลอดภัยในการระบาดระลอกใหม่ ส่งให้โรงเรียนต่าง ๆ ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว

************************************* 6 กรกฎาคม 2564