อว. กห. ลงนาม MOU ความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง บูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ด้านความมั่นคง

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงกลาโหม ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคง ผู้ร่วมลงนามประกอบไปด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และพลเอกณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมลงนาม ณ ศาลาว่าการกลาโหม กระทรวงกลาโหม โดยมีนางสาววิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ผู้แทนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งชาติ และผู้แทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพยานในการร่วมลงนามฝ่าย อว.

ปลัด อว. กล่าวในตอนหนึ่งว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกระทรวงที่ดูแลและขับเคลื่อนองค์ความรู้ของประเทศ ทั้งการพัฒนากำลังคนขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา การนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ และการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆในการขับเคลื่อนการวิจัย ผ่านการดูแลมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ เรามีบุคลากรที่อยู่ในระบบของมหาวิทยาลัย ทั้งในส่วนอาจารย์และนักวิจัยรวมกันประมาณ 200,000 คน และดูแลนิสิตนักศึกษาขณะนี้ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งบุคลากรดังกล่าวนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการที่จะผลิตและพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ

ปลัด อว. กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือในวันนี้ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้กำหนดขอบเขตในการเสริมสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาเพื่อความมั่นคงในทุกมิติ โดยจะร่วมพัฒนาระบบวิจัย ระบบงานด้านทหาร โครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายทอดองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยรวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความมั่นคงทั้งในประเทศและต่างประเทศ และขับเคลื่อนการนำเอาผลงานวิจัยและนวัตกรรมนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์

“อว. จะเชื่อมโยงกระบวนการต่างๆเหล่านี้ในกระทรวงให้เป็นส่วนเดียวกัน ทำให้เกิดการบูรณาการทั้งด้านบุคลากร องค์ความรู้ ที่จะนำมาพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านความมั่นคงสู่การใช้งาน ไปสู่อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อการพึ่งพาตัวเองและการประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ เชิงอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป” ปลัด อว. กล่าวในตอนท้าย