รมว.สุชาติ มอบ ที่ปรึกษา ขับเคลื่อน โครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง ในสถานประกอบการ จ.สระบุรี

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง เพื่อขับเคลื่อนโครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงในสถานประกอบการ ทำให้นายจ้าง ลูกจ้างสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตามแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายภายใต้สถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ สังคม นายจ้าง ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ณ บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 188 หมู่ที่ 1 ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นางอุดมลักษณ์ สอนสารี รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย คุณอุกฤษฏ์ อัษฎาธร กรรมการผู้จัดการใหญ่ คุณณิชา อัษฎาธร รองผู้อำนวยการสายงานขายและการตลาด และคุณวรารักษ์ สุภานันท์ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายโรงงาน บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด ให้การต้อนรับ

สำหรับบริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด ประกอบกิจการผลิตน้ำตาล ปัจจุบันมีลูกจ้างจำนวน 1,564 คน เป็นคนไทยทั้งหมดไม่มีต่างด้าว ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ได้แก่ กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายความปลอดภัยฯ กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ การจัดสวัสดิการแรงงานมีชุดทำงาน มีสวัสดิการที่พักอาศัย การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้รับการรับรองโครงการโรงงานสีขาว จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีการจัดตั้งชมรมทูบีนัมเบอร์วันในสถานประกอบการ บริษัท น้ำตาลสระบุรี จำกัด ได้เริ่มจัดตั้งโครงการ “เกษตรอินทรีย์ น้ำตาลสระบุรี วิถีพอเพียง”

เมื่อปี 2562 มีลูกจ้างเข้าร่วมจำนวน 66 คน ใช้พื้นที่สถานประกอบการจำนวน 725 ไร่ โดยจัดสรรพื้นที่ทำการเกษตร จำนวน 4 ไร่ และกำลังขยายพื้นที่จำนวน 7 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง คะน้า ผักสลัด ถั่วพู มะเขือ ฟักทอง พริก กะเพรา ข่า ตะไคร้ ผักผลไม้ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง แตงไทย อ้อยสำลี การเลี้ยงสัตว์ กบ ไก่ และเป็ด โครงการดังกล่าวจะช่วยลดรายจ่าย ซึ่งลูกจ้างสามารถนำผลผลิตที่ได้มาแลกเปลี่ยนกันและนำกลับไปบริโภคในครัวเรือน ทำให้ลดรายจ่ายในครัวเรือน 2,000 – 3,000 บาท/คน/เดือน และเพิ่มรายได้ ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภค ลูกจ้างนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ของลูกจ้างโดยตรง โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ลูกจ้างมีรายได้เพิ่มขึ้น 2,000 – 3,000 บาท/คน/เดือน การนำนวัตกรรมมาใช้ มีการนำกากน้ำตาล ซึ่งเป็นวัสดุเหลือจากกระบวนการผลิตมาหมักทำเป็นปุ๋ย ใช้ในแปลงการเกษตร และมีการแจกจ่ายให้กับชุมชน และผู้ที่ให้ความสนใจ

นางธิวัลรัตน์ กล่าวว่า โครงการแรงงานพันธุ์ดีตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ในการสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อส่งเสริมให้นายจ้าง ลูกจ้างสามารถพึ่งพาตนเองได้ภายใต้สถานการณ์วิกฤต ตามแนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง , ร่นายจ้าง ลูกจ้างจึงต้องปรับตัวและเรียนรู้เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ และการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพไปด้วยกันโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ ได้แก่ ที่ดิน หรือพื้นที่บริเวณ สถานประกอบกิจการเพื่อเพาะปลูกพืชสวนครัว พืชผลทางการเกษตร หรือเลี้ยงสัตว์ และนำผลผลิตมาใช้สำหรับบริโภคเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการครองชีพ อันเป็นจุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจพอเพียง และสามารถพัฒนานำผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคไปจำหน่ายในชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ หรือพัฒนาอาชีพใหม่ ทั้งนี้ โครงการแรงงานพันธุ์ดี ตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง จะช่วยให้นายจ้าง ลูกจ้างมีภูมิคุ้มกัน สามารถก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคเมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติสำคัญได้อย่างยั่งยืน