สปส.ขอรับจัดสรรงบประมาณเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ม.33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

​สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พร้อมให้ความช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

​นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้เปิดเผยถึงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่า ตามที่คณะกรรมการบริหารเศรษฐกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 (ศบศ.) ได้จัดการประชุมเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานและเห็นชอบมอบหมายกระทรวงแรงงานจัดทำมาตรการช่วยเหลือเยียวยานายจ้างและลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากการออกข้อกำหนดดังกล่าวภายใต้โครงการเยียวยาสถานประกอบการและผู้ประกันตนมาตรา 33 ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (กรุงเทพมหานครและปริมณฑล)

ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยจัดทำโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ใน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจการกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25)

โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ นายจ้างในระบบประกันสังคมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ในอัตรา 3,000 บาทต่อลูกจ้างหนึ่งคน และได้รับสูงสุดไม่เกิน 200 คน โดยยื่นบัญชีธนาคารในนามนิติบุคคล หรือชื่อบัญชีธนาคารนายจ้างตามทะเบียนพาณิชย์กรณีนายจ้างเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ประกันตนมาตรา 33 สัญชาติไทยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้รับเงินเยียวยา 2,000 บาท ต่อคนผ่านทางพร้อมเพย์เลขประจำตัวประชาชนเท่านั้น ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเยียวยานายจ้างได้สูงถึง 4 หมื่นกว่าราย และช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ได้ประมาณเกือบ 700,000 คน ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายในกิจการ ก่อให้เกิดการนำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค การกระจายรายได้แก่ผู้ประกอบการ และสร้างทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

​เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวต่อไปว่า คุณสมบัติของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในครั้งนี้ คือ มีสัญชาติไทย และมีสถานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 สำหรับนายจ้างสถานประกอบการที่มีการประกอบกิจการ แต่ยังไม่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน ถึง 30 กรกฎาคม 2564 จึงจะได้รับสิทธินี้

สำหรับกิจการกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ จะเป็นกิจการตามการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี 2552 เช่น กิจการสมาคมต่าง ๆ องค์กรทางศาสนา องค์กรทางการเมือง ช่างซ่อมอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า รองเท้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ ดนตรี นาฬิกา อุปกรณ์กีฬา และช่างซ่อมจักรยาน เป็นต้น และการให้บริการด้านสุขภาพ เช่น ร้านนวด สปา ร้านแต่งผม การดูแลความงาม การให้คำปรึกษาด้านความงาม ลดน้ำหนัก เป็นต้น ร้านซักรีด บริการอาบ อบ นวด และอื่น ๆ ที่มีการจ้างลูกจ้างและขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบเพิ่มเติมว่าประเภทกิจการของตนเองเข้าเงื่อนไขได้รับการเยียวยาหรือไม่ โดยสอบถามที่สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งในวัน-เวลาราชการ หรือติดต่อสายด่วน โทร 1506 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

——————————————————-
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม