สถานการณ์โควิด-19 กรมราชทัณฑ์ ผู้ติดเชื้อรักษาหายแล้ว 94.4%พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่-เน้นย้ำมาตรการป้องกันเชื้อทุกช่องทาง

ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 09.30 น. ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตาม 5 แผนงานการป้องกันและแก้ไขสถานการณ์ Covid-19 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ครั้งที่ 36/2564 โดยมี นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) ร่วมกับผู้บัญชาการเรือนจำในจังหวัดที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และห้องประชุม 1 ชั้น 2 กรมราชทัณฑ์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายในสถานที่ควบคุมของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม หรือ ศบค.ยธ. เผยภาพรวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน พบรักษาหายสะสม 94.4% ผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาต่ำกว่า 2 พันรายต่อเนื่อง

นายวัลลภ เปิดเผยว่า สถิติผู้ติดเชื้อของกรมราชทัณฑ์ ปัจจุบัน มีเรือนจำสีขาวที่ไม่พบการแพร่ระบาดจำนวน 122 แห่ง เรือนจำสีแดงที่พบการแพร่ระบาด 10 แห่ง มีผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว 34,767 ราย หรือกว่า 94.4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อที่ยังอยู่ในการดูแลของกรมราชทัณฑ์ ทั้งสิ้น 1,752 ราย ซึ่งต่ำกว่า 2 พันรายเป็นวันที่สองแล้ว โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีผู้ติดเชื่อที่ยังรักษาอยู่ 1,075 ราย ซึ่งคาดว่าจะหายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายงานผู้เสียชีวิตสะสม 44 ราย หรือ 0.1% ของจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด ซึ่งจะพบว่าแนวโน้มสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครเริ่มลดลง แม้จะมีเรือนจำที่พบการแพร่ระบาดแห่งใหม่ แต่สถานการณ์ยังคงอยู่ในการควบคุม และมีการระบาดเพียงบางแดนเท่านั้น ซึ่งทุกแห่งได้ตรวจคัดแยกผู้ต้องขังติดเชื้อเพื่อให้ได้รับการรักษา การแยกกลุ่มเสี่ยงจากผู้ต้องขังกลุ่มอื่นตามแผนการดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมถึงการจัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ และตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายวัลลภ กล่าวต่อว่า การจัดสรรวัคซีนของกรมราชทัณฑ์ ในวันนี้จะได้รับวัคซีนเพิ่มเติมจากกรมควบคุมโรคอีก 10,000 โดส เพื่อฉีดแก่ผู้ต้องขังเป็นเข็มที่ 2 ตามกำหนดระยะเวลา และเป็นเข็มแรกในเรือนจำสีขาวในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทำให้ยอดรวมวัคซีนของกรมราชทัณฑ์ มีทั้งสิ้น 86,877 โดส ซึ่งได้ดำเนินการฉีดให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถานไปแล้ว 46 แห่ง สำหรับเรือนจำและทัณฑสถานแห่งอื่นๆ กรมราชทัณฑ์ยังอยู่ระหว่างประสานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอรับวัคซีนเพิ่มเติมจนกว่าจะครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

นายวัลลภ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค.ยธ. โดยมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ได้เน้นย้ำการจัดการเรือนจำ/ทัณฑสถานทุกแห่งให้มีมาตรฐานด้านการป้องกันเชื้ออย่างเป็นระบบ รวมถึงมีแผนการเผชิญเหตุและจัดเตรียมพื้นที่ในการจัดทำโรงพยาบาลสนามเรือนจำให้พร้อมรับการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในสภาวะที่ภายนอกยังมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน ที่ได้ร่วมกันต่อสู้กับการแพร่ระบาด จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในหลายพื้นที่ และขอให้ทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งต่อไป ส่วนในเรือนจำ/ทัณฑสถานที่ยังไม่พบการแพร่ระบาด ต้องพยายามปิดจุดแพร่เชื้อทุกช่องทาง และรักษามาตรการป้องกันเชื้ออย่างเคร่งครัด

ด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ประจำวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม 2564 ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ขณะที่สถานะเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อยังคงรักษาตัวอยู่ 1 ราย รวมผู้ติดเชื้อหายป่วยแล้วทั้งสิ้น 92 ราย จากทั้งหมด 93 ราย หรือคิดเป็น 98% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด ขณะที่สถานพินิจฯ/ศูนย์ฝึกและอบรมฯ สีขาว มีสถานะรวม 40 แห่ง จากทั้งหมด 56 แห่ง หรือคิดเป็น 71% อีก 16 แห่งอยู่ระหว่างการรอตรวจและรอผล 7 แห่ง หมดสถานะ 4 แห่ง และติดเชื้อ 5 แห่ง ด้านสถิติการฉีดวัคซีนของเด็กและเยาวชน เพิ่มขึ้น 4 ราย เป็นจำนวน 110 ราย จากทั้งหมด 4,378 ราย หรือคิดเป็น 2.5% ขณะที่การฉีดวัคซีนของเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,367 ราย หรือ 76% ของเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 4,411 ราย นอกจากนี้กรมพินิจฯ ยังได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกคนยกระดับและเข้มงวดกวดขันในการเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ยกเว้นกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนหรือฉุกเฉินให้รีบเเจ้งแก่ผู้บังคับบัญชา และจัดทำไทม์ไลน์การเดินทาง ตลอดจนให้ทบทวนแนวทางการจัดเวรยามของเจ้าหน้าที่ในสถานที่ควบคุม เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ต่อไป