กรมอนามัย ห่วง เด็กเรียนออนไลน์ – ออนแอร์ ยุคโควิด แนะพ่อแม่หมั่นดูแลสายตาลูกเพิ่มขึ้น

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ดูแลเด็กเรียน Online ที่บ้าน หมั่นสังเกตสายตาเและพฤติกรรมการดูหน้าจอของเด็ก เพื่อป้องกันปัญหาสายตาผิดปกติในระยะยาว หากพบอาการผิดปกติให้ปรึกษาจักษุแพทย์ พร้อมแนะนำให้เลือกผัก ผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง ไข่ ตับ นม ช่วยบำรุงสายตาให้กับเด็ก

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ทำให้สถานศึกษาในหลายพื้นที่มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอน โดยให้โรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่สถานการณ์ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ดำเนินการจัดการเรียน การสอน เฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล แบบ On Air, Online, On Demand, On Hand ผ่านทางไปรษณีย์

ซึ่งจากข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2564 พบว่า โรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนในภาพรวมทั้งประเทศ ได้ปรับรูปแบบจาก On Site มาเป็นการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต (Online) ร้อยละ 20.8 ผ่านโทรทัศน์ (On Air) ร้อยละ 17.0 และสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยทาง ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้กำหนดให้เปลี่ยนการเรียน การสอนจาก On Site เป็นแบบ Online นั้น โดยมีการดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าวถึงร้อยละ 80 ขณะที่อีก ร้อยละ 20 อาจจะใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบอื่น ๆ ซึ่งการเรียนแบบ Online มีความแตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนอย่างมาก พ่อแม่ ผู้ปกครองจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนของลูกมากขึ้น เพราะการเรียนผ่าน Online และ On Air จะใช้เวลาอยู่กับสื่อการเรียนการสอน เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ระยะใกล้เป็นเวลานาน ๆ ต้องใช้สายตาในการเพ่งมองดูข้อมูลหน้าจอ อาจมีผลทำให้เกิดอาการแสบตา ตาแห้ง ปวดตา บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ หรือการมองไม่ชัดหลังเลิกเรียน ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสายตาผิดปกติ สายตาสั้น หรือมีตาดำเขเข้าหรือเขออกเป็นครั้งคราว ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาวต่อไปในอนาคต

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า วิธีการที่เหมาะสมในการใช้สายตาเรียน Online นั้น ขอให้ปฏิบัติดังนี้

1) ระยะเวลาการใช้สายตาในการเรียน Online และ On Air เพ่งดูหน้าจอ ด้วยหลักการ 20-20-20 คือใช้สายตามองใกล้ติดต่อกันไม่เกิน 20 นาที โดยควรพักใช้สายตา 20 วินาที ด้วยการมองไปที่ระยะห่าง 20 ฟุต (6 เมตร) เพื่อเป็นการพักสายตา แล้วกลับมาใช้สายตาใหม่ได้

2) จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียนไฟไม่มืดหรือสว่างเกินไป เพราะแสงเข้าตามากเกินอาจทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม จึงต้องปรับหน้าจอให้สว่างพอดี

3) แนะนำให้กระพริบตาบ่อย ๆ หลับตาพัก (นับ 1-5 แล้วลืมตาใหม่) เพราะการใช้สายตานาน ๆ อาจเกิดภาวะตาแห้ง เคืองตา กะพริบตาน้อย (ปกติคนเรากะพริบตา 10-12 ครั้งต่อนาที) ภาวะตาแห้งจะดีขึ้น รวมถึงตำแหน่งที่นั่ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมพัดมาก ลมแอร์ตกใส่ ระดับของโทรศัพท์มือถือไม่สูงเกินไป จะทำให้เปิดเปลือกตามากขึ้น ควรอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา ช่วยลดภาวะตาแห้ง (ข้อมูลราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่ง ประเทศไทย, 24 มิถุนายน 2564)

“นอกจากนี้ พ่อแม่ยังส่งเสริมการมีสายตาที่ดีให้กับเด็กได้ด้วยการเลือกผักผลไม้สีเขียวเข้ม สีเหลือง สีส้ม สีแดง เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ มะม่วงสุก มะละกอ สับปะรด แคนตาลูป เป็นต้น เนื่องจากสารแคโรทีนอยส์ในผักผลไม้ดังกล่าว ช่วยในเรื่องการมองเห็นในที่มืดได้ดี ลดความเสื่อมของเซลล์ลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดี และใช้ไข่ ตับ เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร ควรให้เด็กดื่มนมวันละ 2 แก้ว หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด และไม่ควรใช้สายตาในที่มืด” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 5 กรกฎาคม 2564