รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนในกลุ่มบุคลากรที่ติดเชื้อ ผลการศึกษาเบื้องต้นพบลดอาการป่วยได้จริง

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ศึกษาประสิทธิผลการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อและในหอผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการฉีดวัคซีนช่วยลดอาการป่วยหนักได้จริง

วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 ที่ จ.เชียงราย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์โควิด 19 และ การบริหารจัดการวัคซีนจ.เชียงราย โดยมี นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ

นายอนุทิน กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามสถานการณ์โควิด 19 ใน จ. เชียงราย จากการแพร่ระบาดในรอบเดือนเมษายน มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,024 คน ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว ชุมชน สำนักงานและขณะนี้พบการติดเชื้อเป็นแบบคลัสเตอร์อยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่ เทิง แม่สาย เวียงป่าเป้า และ เมืองเชียงราย ซึ่งคลัสเตอร์เมืองเชียงรายนั้น เป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ นักรังสีการแพทย์ พนักงานเปล ที่ติดเชื้อจากการรักษาและให้บริการผู้ป่วย จำนวน 49 คน และมีการติดตามผู้สัมผัสเป็น ผู้ป่วยและญาติอีก 100 คน รวมเป็น 149 คน โดยกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และมีอาการเล็กน้อย ทางโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จึงได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสทำการศึกษาอัตราการติดเชื้อ ความรุนแรงของอาการป่วยภายหลังการฉีดวัคซีน ซึ่งพบว่า ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จำนวน 29 ราย พบมีอาการปอดอักเสบเพียง 3 ราย ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน 12 ราย พบมีอาการปอดอักเสบ 6 ราย นอกจากนี้ยังได้ขยายผลการศึกษาไปยังหอผู้ป่วยที่พบการติดเชื้อ มีบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน 537 ราย พบอัตราการติดเชื้อ เฉลี่ยร้อยละ 8 ในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส พบติดเชื้อร้อยละ 5.7 ซิโนแวค 1 โดส ติดเชื้อร้อยละ 16.7 แอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส ติดเชื้อร้อยละ 6.6 ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนพบติดเชื้อร้อยละ 33.3

จากผลการศึกษาเบื้องต้นทำให้มั่นใจว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลของวัคซีนมีความปลอดภัย ช่วยให้ไม่ป่วยหนักมากขึ้น ป้องกันการเสียชีวิตจากโควิดได้ หรือแม้ได้รับการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว ยังสามารถช่วยป้องกันอาการรุนแรงได้ เช่นกัน โดยจะนำข้อมูลนี้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลต่าง ๆ ให้บุคลากรทางการแพทย์เข้ารับวัคซีนครบ 100 % และให้ทุกสถานพยาบาลเพิ่มความระมัดระวังในการปฏิบัติงานของบุคลากรอย่างเต็มที่เนื่องจากทุกคนเป็นบุคลากรที่มีค่าของกระทรวงสาธารณสุขและขอให้กำลังใจกับบุคลากรที่ติดเชื้อทุกคน สำหรับการให้วัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ในระหว่างการ ศึกษาวิจัย จากสถาบันทางการแพทย์ชั้นนำของโลก ส่วนในประเทศไทยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญฯ ได้ติดตามผลการศึกษา อย่างใกล้ชิดและจะพิจารณาใช้ หากพบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคในระยะต่อไป

นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการบริหารจัดการวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10 ล้านโดส และจะรีบจัดสรรกระจายไปยังทุกจังหวัดอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ เพื่อให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม โดยวัคซีนที่ภาครัฐจัดหาสำหรับฉีดให้กับคนในประเทศขณะนี้มี แอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับมาตรฐาน องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง และยังได้มีการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม ในส่วนจังหวัดเชียงราย ข้อมูลถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 มีประชากรได้รับการฉีดวัคซีนแล้วแล้ว 88,274 คน จากกลุ่มเป้าหมาย 820,459 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 10.76 มีศักยภาพในการฉีดสูงสุดได้ 300,000 โดส ต่อเดือน ซึ่งจะจัดสรรวัคซีนให้กับเชียงรายมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เบื้องต้นขอให้เน้นในกลุ่ม ผู้สูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะป่วยหนักและเสียชีวิตในพื้นที่ โดยในแต่ละพื้นที่มีวัตถุประสงค์ในการฉีดวัคซีนที่แตกต่างกัน เช่น ใน จ.ภูเก็ต จะต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครบร้อยละ 70 ให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวตามแผน Phuket Tourism Sandbox ส่วนใน กรุงเทพมหานคร เป็นการระดมฉีดเพื่อควบคุมโรค และให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

นอกจากนี้ ได้เยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่แพทย์โรงพยาบาลเทิง อ.เทิง จ.เชียงรายและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ โดยได้ฝากให้หน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทำงานเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย ซึ่งจะทำให้มีความพร้อมในการบริการประชาชน ส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดความแออัดของโรงพยาบาล

***************************** 3 กรกฎาคม 2564