ผู้ว่าฯ พาคิด! บุกโชว์แบรนด์ “โคก หนอง นา ไร่ห่มดิน” อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี Best Practice ในการน้อมนำแนวพระราชดำริ ขยายผลสู่ประชาชนในพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคง ตามนโยบายรัฐบาล

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.30 น. นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน และนักวิชาการพัฒนาชุมชน (ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงาน) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดอุบลราชธานี และเอามื้อสามัคคีสร้างและพัฒนาฐานเรียนรู้ พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ขององค์กร กรมการพัฒนาชุมชน และจังหวัดอุบลราชธานี ณ แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) นายกนกพล เกิ้นสอน หรือที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ตังชื่อให้ก่อนขุดปรับพื้นที่ไว้ว่า “ไร่ห่มดิน” ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านบุเปือย หมู่ที่ 2 ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายวิทยา มูลน้อยสุ นายอำเภอน้ำยืน นางสาวนันท์นภัส สุวรรณา พัฒนาการอำเภอน้ำยืน พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ประธานเครือข่าย SAVEUBON ผู้นำชุมชน และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ร่วมให้การต้อนรับและสนับสนุนการดำเนินงาน

สำหรับแปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) โคก หนอง นา “ไร่ห่มดิน” ของนายกนกพล เกิ้นสอน บ้านบุเปือย นั้น มีสมาชิกในครัวเรือน 4 คน ความถนัดเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ และการออกแบบพื้นที่ เอกสารสิทธิ์ น.ส.3 เนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ เข้าร่วมโครงการงบเงินกู้ CLM 15 ไร่ แบบที่ใช้ขุดเป็น 1:3  ดินร่วนปนทราย ใช้เวลาขุด 25 วัน ซึ่งกิจกรรมที่ดำเนินการแล้ว เช่น เอามื้อสามัคคี ปลูกต้นไม้ (ทุเรียน ขนุน) หญ้าแฝก ตะไคร้ เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา และมีฐานเรียนรู้ที่จะดำเนินการในพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบลที่ดำเนินการในพื้นที่ จำนวน 9 ฐาน ได้แก่ ฐานการเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ ฐานการเรียนรู้คนหัวเห็ด ฐานการเรียนรู้คนเอาถ่าน ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่ธรณี ฐานการเรียนรู้คนรักป่า ฐานการเรียนรู้คนรักษ์น้ำ ฐานการเรียนรู้คนรักษ์แม่โพสพ ฐานการเรียนรู้คนมีไฟ เเละฐานการเรียนรู้หัวคันนาทองคำ

​โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยต่อผู้ที่มาให้การต้อนรับและสื่อมวลชนที่มาสัมภาษณ์ว่า “การสานต่อนโยบายของรัฐบาล ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ของจังหวัดอุบลราชธานี ว่าได้ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลหลายเรื่องเพื่อส่งเสริมให้ประชาชน ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช” เป็นโครงการหนึ่งที่ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกร แรงงาน และบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประยุกต์สู่การปฏิบัติ โดยพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ “โคก หนอง นา พช.” จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” มากที่สุดในประเทศ จำนวน 4,776 แปลง จากงบประมาณภาครัฐ 3 ช่องทาง ได้แก่ งบเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผ่านมาทางกระทรวงมหาดไทย มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชนรับผิดชอบ จำนวน 3,960 แปลง งบประมาณ 576,592,500 บาท งบประมาณตามยุทธศาสตร์ของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 791 แปลง งบประมาณ 45,808,000 บาท งบพัฒนาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2563 จำนวน 25 แปลง งบประมาณ 4,425,800 บาท

ซึ่งในส่วนนี้จังหวัดได้ดำเนินการมาก่อนแล้ว โดยได้บูรณาการหลายหน่วยงานในจังหวัดอุบลราชธานีร่วมกันขับเคลื่อน เรียกได้ว่า จังหวัดอุบลราชธานีเป็นมหานครแห่ง “โคก หนอง นา” ก็ว่าได้ โครงการนี้เป็นโครงการตอบสนองความต้องการที่ถูกต้องเเละตรงจุด จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ช่วย “แก้แล้ง เก็บฝน” ทำให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้ง เเละช่วยชะลอน้ำไหลหลากในฤดูฝน จะเกิดศูนย์เรียนรู้การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน กระจายอยู่ทั่วพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เกิดแกนนำการพัฒนา เป็นครูกระบวนการ ครูกสิกรรม ครูประจำฐานเรียนรู้การพึ่งพาตนเองและครูพาทำ จำนวน 4,858 คน เกิดพื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบระดับตำบล จำนวน 68 ตำบล และระดับครัวเรือน จำนวน 3,892 ครัวเรือน เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 898 คน กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากเดิม พื้นที่ครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ จะลดปัญหาจากภัยแล้งได้ 50% ของพื้นที่ดำเนินการภายใน 3 ปี ตลอดจนเกิดแบรนด์ “โคก หนอง นา” ในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสร้างรายได้และเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงแก่คนในชุมชน ตามนโยบายของทางรัฐบาลอีกด้วย” ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวด้วยความมุ่งมั่น

ขณะที่ นายกนกพล เกิ้นสอน เจ้าของแปลง “โคก หนอง นา ไร่ห่มดิน” เจ้าของแปลง CLM ได้กล่าวขอบคุณและแสดงความรู้สึกต่อคณะที่มาตรวจเยี่ยมว่า “ตนรู้สึกดีใจมากที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และคณะ ได้มาตรวจเยี่ยมโครงการโคก หนอง นา พช. ในครั้งนี้ ขอขอบพระคุณกรมการพัฒนาชุมชน และจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้นำสิ่งดีๆ มามอบให้ พื้นที่ 15 ไร่ แห่งนี้ ตนเรียนจบทางด้านวิศวกรรม และคิดอยากให้ครอบครัวมีอาชีพและมีรายได้เพิ่ม รวมถึงขยายผลโครงการโคก หนอง นา ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ที่ทำอยู่แล้ว 2 ไร่ จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ เพราะเชื่อว่าการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นทางรอดของครอบครัวที่ยั่งยืนและมีความสุข ซึ่งในอนาคตตนและครอบครัว จะพัฒนาพื้นที่และนำผลผลิตไปแปรรูปสู่แบรนด์ โคก หนอง นา “ไร่ห่มดิน” ตามแนวทางและชื่อที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งให้ สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณรัฐบาล กรมการพัฒนาชุมชน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนราชการระดับอำเภอ หน่วยงานพัฒนาชุมชน และ นพต. ที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นอย่างดี ตนรู้สึกดีใจและประทับใจมากๆ ที่ทางหน่วยงานได้ช่วยปรับพื้นที่ให้ได้อย่างสวยงามตามแบบและตามความต้องการ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในพื้นที่ เพื่อเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในเรื่องของการพัฒนาประเทศ เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของชาติและประโยชน์สุขของพสกนิกรชาวไทยให้สามารถพึ่งตนเองได้ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความสุขที่ยั่งยืน ต่อประชาชนในประเทศ รวมถึงชาวจังหวัดอุบลราชธานีด้วย” เจ้าของแปลงกล่าวปิดท้ายด้วยความภาคภูมิใจ

ภาพ/ข่าว กรมการพัฒนาชุมชน