รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” โคก หนอง นา พช. อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ สร้างความคึกคัก คึกครื้น สมัครสมานสามัคคี ตามวิถีประเพณีลงแขก

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 นายนิวัติ น้อยผาง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ร่วมกิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” ในพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต “โคก หนอง นา พช.” อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ โดยมี นายวิลาส บุญโต ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอุบลราชธานี นายชัยยงค์ ผ่องใส ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน นายสะมะภู สิงห์ดง ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานและสนับสนุนการบริหารงานพัฒนาชุมชน นายอัศวณัฏฐ์ ชิณพันธ์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกิจกรรม โดยมีนายพรชัย วงศ์งาม นายอำเภออุทุมพรพิสัยให้การต้อนรับ นายสมยศ รำจวน พัฒนาการอำเภออุทุมพรพิสัย กล่าวรายงาน และมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ผู้นำชุมชน และครัวเรือน เข้าร่วมกิจกรรม

แปลงที่ 1 ของนายสุพล พานิชย์ หมู่ที่ 9 บ้านก่อ ตำบลหนองไฮ ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ ปริมาตรดินขุด 1,696.97 ลบ.ม.

แปลงที่ 2 ของนายบุญหลาย อินธรรม บ้านรังแร้ง หมู่ที่ 4 ตำบลรังแร้ง ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ปริมาตรดินขุด 1042 ลบ.ม.

กิจกรรมเอามื้อสามัคคีในวันนี้ ประกอบด้วยกิจกรรม การปลูกไม้ 5 ระดับ ได้แก่ ขนุน 2 ต้น ประดู่ 15 ต้น มะตูม 2 ต้น ไผ่สร้างไพร 3 ต้น สมอ 2 ต้น ต้นหว้า 3 ต้น กล้วยไข่ 5 ต้น กล้วยหอมทอง 40 ต้น มะกล่ำ 2 ต้น ผักติ้ว 2 ต้น ลำดวน 2 ต้น ตะเคียนทอง 2 ต้น กัลปพฤกษ์ 2 ต้น กันเกรา 3 ต้น มะกรูด 2 ต้น มะนาว 2 ต้น ตะแบก 2 ต้น พยอม 10 ต้น ต้นก่อ 2 ต้น ต้นจิก 3 ต้น มะพร้าวน้ำหอม 15 ต้น ต้นผักเม็ก 2 ต้น มะสัง 15 ต้น กระโดนน้ำ 7 ต้น ต้นพยุง 3 ต้น ชมพู่ 4 ต้น ต้นแดง 10 ต้น ละมุด 5 ต้น หมอนเชียงใหม่ 5 ต้น ต้นยางนา 30 ต้น ต้นประดู่ 15 ต้น มะเขือ 20 ต้น พริก 20 ต้น ต้นแค 15 ต้น และผักไชยา 30 ต้น หลังจากนั้นได้ทำการห่มดิน การขุดคลองไส้ไก่ ฯลฯ สร้างความสมัครสมานสามัคคี ก่อเกิดภาพแห่งความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันของคนอีสานคืนกลับมา

นายสมยศ รัญจวน พอ.อุทุมพรพิสัย กล่าวว่า อำเภออุทุมพรพิสัย ได้รับจัดสรรงบประมาณในการทำ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 2 โครงการ ดังนี้

1) โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” (งบเงินกู้) งบประมาณรวม 8,216,000 บาท (ขุด+นพต.+เอามื้อฯ) จำนวน 71 ครัวเรือน และจ้างนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 16 ตำบลๆ ละ 2 คน รวม 32 คน ผลการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบฯ จำแนกเป็น

ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 10 ครัวเรือน ดำเนินการขุดแล้ว 7 แปลง ทำสัญญา(PO)แล้ว 5 แปลง เบิกจ่ายแล้ว 2 แปลง คิดเป็นร้อยละ 70

ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 61 ครัวเรือน ดำเนินการขุดแล้ว 55 แปลง ทำสัญญา(PO)แล้ว 20 แปลง เบิกจ่ายแล้ว 35 แปลง คิดเป็นร้อยละ 90.16

2) โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง (งบลงทุน) กิจกรรม การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา พช.” งบประมาณรวม 1,822,000 บาท จำนวน 26 ครัวเรือน

ผลการดำเนินการพัฒนาพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบฯ จำแนกเป็น

ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 15 ครัวเรือน ดำเนินการขุดแล้ว แปลง ทำสัญญา(PO)แล้ว 7 แปลง เบิกจ่ายแล้ว 6 แปลง คิดเป็นร้อยละ 86.67

ขนาดพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 11 ครัวเรือน ดำเนินการขุดแล้ว 11 แปลง ทำสัญญา(PO)แล้ว 4 แปลง เบิกจ่ายแล้ว 7 แปลง คิดเป็นร้อยละ 100

และนายพรชัย วงศ์งาม นายอำเภออุทุมพรพิสัย กล่าวว่า อำเภออุทุมพรพิสัย ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์สู่โคกหนองนา ของกรมการพัฒนาชุมชนในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ทำให้ประชาชนมีทางรอดในการดำรงชีวิต ซึ่งทางอำเภออุทุมพรพิสัย จะส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และสร้างโอกาสให้กับตนเองและครอบครัว และเข้ามาศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่จากครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต โคก หนอง นา พช. เพื่อนำไปปรับใช้ในครัวเรือนของตนต่อไป และได้ให้ทุกภาคส่วนประชาสัมพันธ์การรับสมัครเข้าร่วมโครงการ โคก หนอง นา ของ พช. และสำรวจข้อมูลปราชญ์ชุมชน/ครูพาทำ ในพื้นที่อำเภอ ที่เป็นครูพาทำสนับสนุนการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ของอำเภอ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” กิจกรรมเอามื้อสามัคคี ต่อไป

ทั้งนี้ กิจกรรม “เอามื้อสามัคคี” โคก หนอง นา พช. มีชื่อเรียกตามภาษาพื้นถิ่นอีสานว่า “ลงแขก” เป็นวัฒนธรรมประเพณีแห่งความเอื้อเฟื้อและเกื้อกูลกันของสังคมคนในอดีต ที่นับวันจะสูญหายไปเนื่องจากระบบเศรษฐกิจที่ใช้เงินตราเป็นตัวกำหนด คนไทยในสมัยนี้รู้จักคำว่า ลงแขก ในความหมายที่เป็นการกระทำผิดอาญา แต่สำหรับคนอีสานแล้ว ลงแขก มีความหมายถึงน้ำใจที่ผู้คนในชุมชนมอบให้กัน ในการช่วยเหลือกิจการงานต่างๆ ให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว ประเพณีเอามื้อเอาแรงนี้จึงเป็นการพึ่งพาอาศัยซึ่ง กันและกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคี ทำให้งานเสร็จอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องอาศัยการว่าจ้าง และยังถือเป็นโอกาสที่ทำให้หนุ่มสาวได้รู้จักอุปนิสัยใจคอและพบรักกันได้อีกด้วย เนื่องด้วยวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยดั้งเดิม เกี่ยวพันกับอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา การทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของฟ้าและฝน จะต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว ในครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก จึงก่อเกิดประเพณี ลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทนมีเพียงน้ำใจเลี้ยงอาหารข้าวปลาตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง

ทำให้กิจการงานสำเร็จลุล่วงมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลน เมื่อเทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาสู่ชุมชนพร้อมกับการส่งเสริมให้มีการ ปลูกเพื่อขาย ยุคเศรษฐกิจเงินตราเป็นใหญ่จึงทำให้การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในอดีต กลายมาเป็นการว่าจ้างแรงงานแทน และวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามอย่าง การลงแขก จึงพลอยสูญหายไปด้วย และยิ่งมาถึงยุคสมัยที่ลูกหลานวัยรุ่น หนุ่ม-สาวของเราหนีความแห้งแล้งไปขายแรงงานในเมืองใหญ่ การทำไร่ไถนาของบรรพบุรุษก็ยิ่งขาดแคลนแรงงานหนัก ก็ได้อาศัยเงินทองที่ลูกหลานส่งมาให้มาจ้างแรงงานในหมู่บ้านแทน ก็ยิ่งทำให้การลงแขกถูกลืมเลือนเด็ดขาดไปเลย เพราะการช่วยงานต้องมีค่าจ้างตอบแทน เลี้ยงข้าวปลาอาหารอีก นี่จึงต้องมีการฟื้นฟูและกล่าวถึงวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม การลงแขก ให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

นับว่า โคก หนอง นา พช. เป็นทางรอด ที่จะเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชนผ่านการสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19) ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19) ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ ตามที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

พัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ : นครแห่งความสุข
สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภออุทุมพรพิสัย : ข้อมูลข่าว
กลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน : ภาพ
กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน : รายงาน