พัฒนาชุมชนนครศรีธรรมราช ขานรับ รุดหน้าเตรียมความพร้อมกลุ่มผ้าบาติก สืบสานงานผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ“ป่าแดนใต้”

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ไปเป็นต้นแบบในการเขียนลายผ้าบาติกมัดย้อม เตรียมความพร้อมการประยุกต์งานผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” “ท้องทะเลไทย” และ“ป่าแดนใต้” ให้สอดคล้องกับเทคนิค และอัตลักษณ์เดิมของกลุ่ม โดยมี นายวรินทร ทองขาว นายอำเภอช้างกลาง พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีหญิงกานติกานต์ บัวเนียม พัฒนาการอำเภอช้างกลาง ตลอดจน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอช้างกลาง นำลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้า ณ กลุ่มบาติกสวนขัน หมู่ที่ 3 ตำบลสวนขัน อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราช

นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริ วัณณวรีฯ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ชาวไทยทุกคน และพระราชทานพระอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนําไปใช้ทอผ้าผลิตผ้าได้ ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเป็นการต่อยอดการพัฒนาผ้าลายพระราชทานจังหวัดนครศรีธรรมราช นำโดย นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่งต่อลายผ้าพระราชทานให้แก่กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกอำเภอ เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน

ต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานผ้าบาติกลายพระราชทาน 3 ลาย ให้แก่กรมการพัฒนาชุมชน ได้แก่

1.ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง” ที่สื่อถึงธรรมชาติอันบริสุทธิ์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่งดงาม ลวดลายประกอบด้วย ลายนกยูง หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่นน้ำ หมายถึง ท้องทะเลภาคใต้ ที่มีธรรมชาติอันสวยงาม ,ลายเรือกอและ หมายถึง วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของภาคใต้ที่ควรรักษาไว้ ,ลายดอกไม้โปรย สื่อถึงมิตรภาพและความจริงใจที่ประชาชนชาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ ลายพระอาทิตย์ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ,ลายกรอบตัว S อักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ท้องทะเลไทย” ด้วยแรงบันดาลพระทัยในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมของท้องทะเลไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้าบาติกพระราชทาน ‘ท้องทะเลไทย’ ด้วยทรงพระดำริ ให้เป็นการจุดประกายความคิดเพื่อให้ ผู้คนเกิดจิตสำนึกในการหวงแหนและรักษาทรัพยากรทางทะเลไทยอันมีค่า ลวดลายประกอบด้วย ลายกะละปังหา หมายถึง ต้นกะละปังหาที่แตกกิ่งก้านออกเป็นรูปพัด เป็นบ้านของสัตว์ทะเลหลายชนิด ,ลายม้าน้ำ ม้าน้ำที่ขดตัวเป็นอักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่น ลูกคลื่นที่ล้อไปกับอักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง ความห่วงใยใน สิ่งแวดล้อมของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายดาวทะเล หมายถึง สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลไทย ,ลายขอบตัว S อักษรพระนามาภิไธย S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

ผ้าบาติกลายพระราชทาน “ป่าแดนใต้” สื่อถึงวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ จึงได้ทรงออกแบบผ้าบาติกลายพระราชทาน ‘ป่าแดนใต้’ ด้วยทรงพระดำริให้เป็นการจุดประกายความคิด ในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าฝนเขตร้อนที่มีระบบนิเวศอันอุดม ลวดลายประกอบด้วย ลายดอกดาหลาสัญลักษณ์ของดอกไม้พื้นถิ่นภาคใต้ ,ลายนกเงือก 10 ตัว หมายถึง พระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และยังหมายถึงความรักที่ซื่อสัตย์ ,ลายเถาไม้รูปตัว S หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายคลื่นตัว S และลายลูกปลากุเลา หมายถึง ความห่วงใยในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของภาคใต้ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ,ลายปารังและลายต้นข้าว สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของภาคใต้

สำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบาติกสวนขัน มีความแตกต่างจากผ้าบาติก ผ้ามัดย้อมทั่วไป โดยได้นำใบและดอกของต้นขัน ซึ่งพบเฉพาะในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าบาติก และผ้ามัดย้อมของกลุ่ม ซึ่งได้สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในกลุ่มและชุมชน ความพิเศษของผลิตภัณฑ์อยู่ที่การตรึงลายโดยใช้เทคนิค Eco-Printing นำดอกขันและใบขันวางบนผ้า จากนั้นม้วนและมัดผ้าให้แน่นนำมาผ่านกระบวนการความร้อน ส่วนของการตรึงกลิ่นเป็นการนำดอกขันมาสกัดเอาน้ำมันหอมระเหยและตรึงกลิ่นด้วยวิธี Nano encapsulation ที่สังเคราะห์จากไคโตซานซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราเป็นตัวห่อหุ้มและน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นหอม และมีฤทธิ์ยับยั้งแบคทีเรียเป็นแกนกลางด้วยวิธีแบบขั้นตอนเดียว นำ Nano capsule ของน้ำมันหอมระเหยที่ได้มาตรึงบนผ้าด้วยเทคนิค dipping-coating ร่วมกับสารเติมแต่งอื่นๆ เพื่อให้ผ้าถิ่นมีกลิ่นหอม คงทนต่อการซัก และยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนขันเกษตรกรยั่งยืนไม่เพียงจะมีแต่ผ้าบาติก ผ้ามัดยอมเท่านั้น ยังมีผ้าคลุมไหล่คุณภาพสูงที่มีทั้งกลิ่นหอมจากดอกขันและลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์จากดอกและใบขัน สามารถซักทำความสะอาดได้มากกว่า 15 ครั้ง อีกทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนได้มากกว่า 5 เท่า อีกด้วย

เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึ่งตนเองได้ ภายในปี 2565 Change for good

สถานีข่าวพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รายงาน