สธ. เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรค ลดป่วยรุนแรง ลดเสียชีวิต

กระทรวงสาธารณสุข เร่งฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเรื้อรังในเดือนก.ค.-ส.ค. เพื่อลดอาการรุนแรง ลดการเสียชีวิต กรมควบคุมโรคตรวจรับและกระจายวัคซีนซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าไปจุดฉีดทั่วประเทศแล้ว 13 ล้านโดส ขณะนี้ฉีดแล้วกว่า 10 ล้านโดส สิ่งที่ได้เรียนรู้คือวัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีความปลอดภัยตามมาตรฐาน

วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค สรุปผลการดำเนินงานฉีดวัคซีน และการกระจายวัคซีนโควิด 19 ว่า วัคซีนที่ประเทศไทยใช้ในขณะนี้มี 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า โดยได้รับวัคซีนซิโนแวคตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงมิถุนายนอย่างต่อเนื่อง และได้รับบริจาคสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมตรวจรับ ตรวจสอบคุณภาพเพื่อส่งมอบ (Lot Release) แล้วทั้งหมด 7,475,960 โดส ส่วนแอสตร้าเซนเนก้าได้รับตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์จนถึงมิถุนายน 2564 รวมทั้งหมด 5,489,400 โดส ล่าสุดวันที่ 30 มิถุนายน ได้รับ 846,000 โดส อยู่ในขั้นตอนการกระจายวัคซีน รวมวัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่ตรวจรับและกระจายไปจุดฉีดต่าง ๆ ทั้งสิ้น 12,965,360 โดส

สำหรับการฉีดวัคซีนตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์จนถึง 1 กรกฎาคม 2564 มีผู้ได้รับวัคซีนทั้งเข็ม 1 และเข็ม 2 รวม 10,227,183 โดส เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยเป็นการฉีดหลังจากเริ่มวาระแห่งชาติ 7 มิถุนายนเป็นต้นมา ฉีดได้ 6,126,662 โดส สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร้อยละ 106.5, เจ้าหน้าที่ด่านหน้าร้อยละ 33.4, อสม.ร้อยละ 30, ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคร้อยละ 13.4, ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ระบาดร้อยละ 12.5 และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 11.2 เมื่อพิจารณาความครอบคลุมการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 พบว่า เฉพาะกรุงเทพมหานครฉีดครอบคลุมร้อยละ 32.36 รวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลร้อยละ 23.7 ภูเก็ตร้อยละ 70.25 เป็นไปตามเป้าหมายเปิดภูเก็ต แซนบ็อกซ์

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า หลังจากการฉีดวัคซีน 10 ล้านโดส สิ่งที่ได้เรียนรู้คือวัคซีนทั้ง 2 ชนิดมีความปลอดภัยตามมาตรฐานค่อนข้างดี มีอาการแพ้ที่เรียกว่า Anaphylaxis บ้างแต่อยู่ในระดับไม่รุนแรง พบน้อยกว่า 1 รายในแสนราย สามารถจัดการได้ และจากระบบการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีน (AEFI) คณะผู้เชี่ยวชาญสรุปแล้วขณะนี้ยังไม่มีรายใดเสียชีวิตจากวัคซีน ทั้งจากการสอบสวนและชันสูตรศพ ส่วนใหญ่พบเป็นเหตุการณ์เกิดร่วมกัน เป็นสิ่งยืนยันว่าวัคซีนที่นำมาฉีดให้กับประชาชนไทยเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ส่วนประสิทธิผลวัคซีนซิโนแวคจากการใช้งานจริงในประเทศไทยพบว่า วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ บางครั้งอาจมีการสื่อสารคลาดเคลื่อนว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ โดยการศึกษาในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม 14 วัน ที่จังหวัดภูเก็ตพบว่าป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 90.7 สมุทรสาครร้อยละ 90.5 ส่วนกลุ่มบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่จังหวัดเชียงราย ป้องกันได้ร้อยละ 82.8 และฐานข้อมูลกรมควบคุมโรค ในภาพรวมสะสม พบว่าป้องกันได้ร้อยละ 70.9 อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าไม่มีวัคซีนใดในโลกที่ป้องกัน การติดเชื้อได้ 100 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่คาดหวังจากวัคซีนคือป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคจะกระจายวัคซีนในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคมอย่างน้อยเดือนละ 10 ล้านโดส ทยอยจัดส่งเป็นรายสัปดาห์ เพื่อฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยในวันนี้นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป สั่งการเร่งรัดการฉีดในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคให้ครอบคลุมในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมนี้ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงมหาดไทย จะบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเจรจาจัดหาวัคซีนต่าง ๆ มาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและประโยชน์มากที่สุด

********************************* 2 กรกฎาคม 2564