กรมการขนส่งทางราง จัดประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อมูลสำหรับการกำหนดชื่อสถานีรถไฟฟ้าให้เป็นไปตามหลักสากล

นายกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง ครั้งที่ 1 เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อมูลการให้บริการรถไฟฟ้าแต่ละโครงการที่แตกต่างกัน โดยมีผู้แทนจาก ขร. และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เกี่ยวกับระบบรถไฟฟ้า เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นายกิตติพันธ์ฯ กล่าวว่า ขร. เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อยกระดับการขนส่งทางรางให้เป็นการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการใช้บริการของคนทุกคนอย่างสะดวก ปลอดภัย และเท่าเทียม รวมทั้ง มีความเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งหลากรูปแบบได้ จึงได้มีแนวคิดในการที่จะกำหนดมาตรฐาน มาตรการ การเสนอแนะแนวทาง รวมถึงการกำกับและติดตามการดำเนินงานบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง และประสานการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

นายกิตติพันธ์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมเพื่อร่วมกันพิจารณาข้อมูลการให้บริการรถไฟฟ้าแต่ละโครงการที่แตกต่างกัน ในเรื่องของการกำหนดการตั้งชื่อสถานีรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยแนวทางสำหรับการกำหนดชื่อและรหัสสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ จากการศึกษาลักษณะเฉพาะของการตั้งชื่อสถานีขนส่งสาธารณะสากล ข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนและตัวแทนของผู้ประกอบการเดินรถในปัจจุบัน รวมถึงการวิเคราะห์หลักการและปัจจัยที่เหมาะสมในการตั้งชื่อ สามารถสรุปหลักการตั้งชื่อและกำหนดรหัสสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสาธารณะ ดังนี้

1) ง่าย ชื่อสถานีรถไฟฟ้าจะต้องเป็นชื่อที่ง่าย และสามารถจดจำได้ง่าย

2) กระชับ ชื่อสถานีรถไฟฟ้าควรเป็นชื่อที่สั้น ได้ใจความโดยชื่อภาษาไทยควรมีความยาว ไม่เกิน
5 พยางค์และชื่อภาษาอังกฤษควรใช้ตัวอักษรไม่เกิน 15 ตัวอักษร

3) มีความยั่งยืน ชื่อสถานีควรใช้ได้อย่างตลอดระยะเวลาที่สถานียังคงเปิดให้บริการอยู่

4) สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน ชื่อสถานีจะต้องเอื้อให้ผู้เดินทางสามารถระบุตำแหน่ง หรือ
บริเวณที่ตั้งของสถานีได้อย่างชัดเจน และควรมีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ตั้งสถานี

5) เฉพาะเจาะจง ชื่อสถานีจะต้องไม่ซ้ำกัน หรือสร้างความสับสนแก่ผู้ใช้บริการ

6) มีความเชื่อมโยงกัน ชื่อสถานีจะต้องสามารถสร้างความเชื่อมโยงไปใช้ในการวางแผน การเดินทาง
ได้ โดยเฉพาะชื่อสถานีที่เป็นสถานีเชื่อมต่อ ควรใช้ชื่อเดียวกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยมีการระบุความแตกต่างของเส้นทางโดยรหัสสถานี

ซึ่งการกำหนดสถานีในประเทศไทย ก็จะยึดหลักการเดียวกับหลักการของสากล โดยจะมีทั้งชื่อ
ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมทั้งคำประกาศภายในขบวนรถเพื่อแจ้งจุดเชื่อมต่อสถานี รูปแบบป้ายสัญลักษณ์ รหัสสีกำหนดเส้นทางรถไฟฟ้า ให้มีความเป็นมาตรฐานกลาง ลดความสับสนแก่ผู้ใช้บริการและเพื่อให้หน่วยงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าต่างๆ สามารถดำเนินการไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสมโดยไม่ล่าช้า รวมทั้งเป็นกรอบในการดำเนินการกรณีงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นในอนาคตต่อไป

***********************************************

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
กลุ่มประชาสัมพันธ์
กรมการขนส่งทางราง (ขร.)
โทรศัพท์ 0 2164 2607