“สาธิต” ตรวจเยี่ยมจุดฉีดวัคซีนเดอะมอลล์งามวงศ์วาน รองรับผู้ลงทะเบียนผ่านระบบ “นนท์พร้อม”

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมจุดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่เดอะมอลล์งามวงศ์วาน รองรับ ผู้ลงทะเบียนผ่านระบบ “นนท์พร้อม” ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และประชาชนทั่วไป 8,000 คน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมจุดฉีดวัคซีนโควิด 19 ของ จ.นนทบุรี ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน และให้สัมภาษณ์ว่า จังหวัดนนทบุรีเป็นพื้นที่สีแดงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ในวันนี้จังหวัดได้ระดมทีมบุคลากรทางการแพทย์จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รพ.พระนั่งเกล้า รพ.บางกรวย สถาบันโรคทรวงอก สาธารณสุขอำเภอเมือง สาธารณสุขอำเภอปากเกร็ด ให้บริการฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และประชาชนทั่วไป 8,000 คน ที่ลงทะเบียนผ่านระบบ “นนท์พร้อม” แบ่งรอบการฉีดเป็น 2 รอบ รอบละ 4,000 คน ใช้เวลาเฉลี่ยในการให้บริการ 1 ชั่วโมงต่อ 1,500คน

“จุดฉีดวัคซีนที่งามวงศ์วานได้จัดบริการรวดเร็ว สถานที่กว้างขวางไม่แออัด บริหารจัดการได้ดี ประชาชนพึงพอใจ สามารถรองรับสูงสุดได้วันละ1.5 หมื่นคน ซึ่งรัฐบาลจะเร่งรัดจัดหาวัคซีนให้เพียงพอประชากรกลุ่มเป้าหมาย และเดินหน้าฉีดให้ครอบคลุมอย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศ” ดร.สาธิตกล่าว

สำหรับจังหวัดนนทบุรี มีประชาชนลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านระบบ “นนท์พร้อม” ประมาณ 5 แสนคน มีจุดฉีดวัคซีน 4 จุด ได้แก่ เดอะมอลล์งามวงศ์วาน, เซ็นทรัลเวสต์เกต, เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ และหอประชุม วัดไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย โดยจะมีการหมุนเวียนไปให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสะดวกใกล้บ้าน โดยจะส่ง SMS นัดหมายล่วงหน้า ซึ่งในพรุ่งนี้จะให้บริการฉีดที่เซ็นทรัลเวสต์เกต ในส่วนประชาชนที่ลงทะเบียนผ่านระบบ “หมอพร้อม” ขอให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนในสถานพยาบาลที่ได้เลือกไว้ ทั้งนี้ ในการจัดบริการฉีดวัคซีนนอกสถานที่ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อาสาสมัครสาธารณสุข ช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งการลงทะเบียน คัดกรอง และวัดความดันโลหิต

ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) กระทรวงสาธารณสุขและกรมการแพทย์ได้จัดทำแนวทางเพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยจำนวนมากแต่ยังไม่มีเตียงรองรับ โดยเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ด้วยความสมัครใจ มีระบบสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับโรงพยาบาล หากอาการเปลี่ยนแปลงสามารถรับตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลได้ทันที ซึ่งเรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่ต้องนำมาใช้ ไปพร้อม ๆ กับการขยายเตียงรองรับกลุ่มสีเหลืองเข้มและแดง ที่ได้ร่วมมือภาครัฐและเอกชน เช่น ใน มทบ.11 โดย รพ.ธนบุรี, ของ กทม. โดยบริษัท SCG และ รพ.ปิยะเวช โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน ทั้งวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ สปสช.พร้อมดูแลเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม การจะลดภาระด้านการรักษาของแพทย์และพยาบาล ขึ้นอยู่กับมาตรการ ความร่วมมือของประชาชน และการควบคุมป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ

******************************** 1 กรกฎาคม 2564