‘กรมเจรจาฯ’ เผยผลศึกษา เชียร์รัฐตั้งกองทุน FTA ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ นำผลการศึกษาแนวทางการพัฒนากลไกช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA เผยแพร่บนเว็บไซต์ www.dtn.go.th ชี้! รัฐจำเป็นต้องตั้งกองทุน FTA ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ และพัฒนาศักยภาพให้ปรับตัวรับการแข่งขันเสรี แนะทำฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายติดตามประเมินผลความช่วยเหลือ  

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้นำผลการศึกษา เรื่องแนวทางการพัฒนากลไกช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า (FTA) เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th แล้ว ซึ่งกรมฯ ได้มอบให้บริษัทโบลลิเกอร์ แลนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ทำวิจัย โดยผลการศึกษาดังกล่าว ประกอบด้วยข้อมูลสำคัญ เช่น ผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า กลไกการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA ของประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และเวียดนาม มาตรการและกลไกช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA ของไทยในปัจจุบัน ผลการระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แนวทางการพัฒนากลไกช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก FTA ของไทย  และข้อเสนอแนะการจัดตั้งกองทุน FTA  เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า กรมฯ จะนำข้อมูลข้างต้นมาใช้ประกอบการขอตั้งกองทุน FTA เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า การจัดทำ FTA ของไทยที่ผ่านมา ช่วยให้การส่งออกของไทยขยายตัวดีขึ้น จากการที่ประเทศคู่ FTA ลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกจากไทย ขณะเดียวกันไทยก็ต้องลดหรือยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าของประเทศคู่ FTA เช่นกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าหรือผู้ประกอบการไทยบางส่วนที่ยังไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะมีกลไกช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบบ้างแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอและเข้าถึงยาก อีกทั้ง
ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบได้

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาได้เสนอให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และพัฒนาศักยภาพผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถปรับตัวรับการแข่งขันเสรี ทั้งผู้ได้รับผลกระทบในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตที่ได้รับความเดือดร้อน ในรูปแบบการให้คำปรึกษา แนะนำ อบรม สัมมนา และด้านการเงิน ซึ่งอาจดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ ทั้งนี้ ผลการศึกษายังระบุว่า การจัดตั้งกองทุน FTA ต้องจัดทำ พ.ร.บ. เฉพาะ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยกองทุนควรได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลเติมให้ทุกครั้งที่มีการจัดทำ FTA ฉบับใหม่ๆ และภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการส่งรายได้เข้ากองทุนด้วย อีกทั้งทีมบริหารกองทุนควรทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานข้อกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เอกชน กลุ่มเกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยาอย่างตรงจุด นอกจากนี้ ควรจัดทำฐานข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยต้องติดตาม ประเมินผลความช่วยเหลือ

ทั้งนี้ แนวคิดการจัดตั้งกองทุน FTA มาจากเสียงเรียกร้องของหลายภาคส่วน ที่กรมฯ ได้รับฟังความเห็นจากการลงพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ที่เสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก FTA ซึ่งปัจจุบันรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ซึ่งมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการ

“ปัจจุบันกรมฯ อยู่ระหว่างยกร่างข้อเสนอการจัดตั้งกองทุน และร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งกองทุน FTA ซึ่งยังมีประเด็นที่ต้องหารือเพื่อให้เกิดความชัดเจน ได้แก่ แหล่งที่มาของรายได้ที่จะสะสมเข้ากองทุน เพิ่มเติมจากงบประมาณที่รัฐจัดสรร ซึ่งที่ผ่านมามีข้อเสนอให้จัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ได้ประโยชน์จาก FTA เข้ากองทุน โดยการเก็บจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้ว กรมฯ จะนำเสนอกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอความเห็นชอบส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนต่อไป” นางอรมนกล่าว

———————————-

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์

30 มิถุนายน 2564