รถไฟ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” ทางคู่สายประวัติศาสตร์ที่ประชาชนรอคอย เจาะอุโมงค์ลอดภูเขายาวที่สุดในไทย ผุดแลนด์มาร์กท่องเที่ยวแห่งใหม่ เปิดประตูการค้าชายแดนเชื่อม”ไทย-อาเซียน-จีน“

รถไฟทางคู่สายเหนือ “เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ” เป็นเส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์ ที่ใช้เวลาดำเนินการยาวนานมาก นับตั้งแต่เริ่มมีการศึกษาโครงการเมื่อปี 2503 ผ่านรัฐบาลหลายยุค มีการปรับนโยบายหลายต่อหลายครั้ง จากหลายปัจจัยทั้งด้านการเมือง ด้านงบประมาณที่จำกัด และยังถูกต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอ ด้วยเพราะเป็นเส้นทางสายใหม่ที่ต้องมีการเวนคืนตลอดโครงการ แต่ทว่า! กลับเป็นโครงการที่มีเสียงเรียกร้องจาก ประชาชน ภาคเอกชน หอการค้าจังหวัด ต้องการให้ก่อสร้างมากที่สุดสายหนึ่งจนกระทั่งปี 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติโครงการ หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้นำเสนอผลการศึกษา ซึ่งพบว่าโครงการมีผลตอบแทนและความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นเส้นทางรถไฟจะมีศักยภาพสูง ทั้งด้านการขนส่งสินค้าและการท่องเที่ยว ถือเป็นการปลดล็อค 60 ปี ที่รอคอย!!!

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทาง 323.10 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 72 เดือน ( 6 ปี) มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านจังหวัด ลำปาง พะเยาสิ้นสุด ที่บริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่ง จากจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่ อ.เชียงของ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ไปยัง เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และ จีนตอนใต้ ที่เมืองคุนหมิงสนับสนุนการพัฒนาจังหวัดภาคเหนือเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับ อ. เชียงของเป็นโลจิสติกส์ฮับของภาคเหนือ และส่งเสริม จ.เชียงรายเป็นเมืองโลจิสติกส์ (Logistic City) ของภูมิภาคในอนาคต ขณะที่ สามารถเชื่อมโยงจากประเทศจีนตอนใต้ ผ่านลาว มาไทยไปยังท่าเรือแหลมฉบัง รองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ได้อย่างสะดวก เชื่อมโยงการเดินทาง ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยสามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือ และสนามบิน รวมไปถึงโครงข่ายทางหลวงภายในประเทศ เป็นโครงการที่เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้อย่างสมบูรณ์ ลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางในการส่งออกสินค้าจากไทยและสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้า การลงทุนของประเทศ

โครงการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ ที่จะเปิดพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่เปี่ยมด้วยศักยภาพ ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและการค้า โดยผ่านพื้นที่ 59 ตำบล 17 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย มีสถานีทั้งสิ้น 26 สถานี ประกอบด้วย สถานีขนาดใหญ่ 4 สถานี สถานีขนาดเล็ก 9 สถานี และป้ายหยุดรถ 13 แห่ง มีการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก ตามหลัก Universal Design และยังมีการออกแบบรั้วกั้นเขตแนวสายทาง มีสะพานรถไฟ สะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟ 40 แห่ง ทางรถยนต์ลอดรถไฟ 102 แห่ง มีทางเชื่อมรวมและกระจายจราจร ตลอดจนสะพานลอย ทางเท้า และทางรถจักรยานยนต์ข้ามและลอดทางรถไฟ แก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ 254 จุด ตลอดแนวเส้นทาง เพื่อให้สามารถเพิ่มระดับความเร็วในการเดินทางขนส่งได้อย่างปลอดภัย และยังมีลานขนถ่ายสินค้าจำนวน 4 แห่ง และย่านกองเก็บและบรรทุกตู้สินค้า 1 แห่ง ที่สถานีเชียงของ บนพื้นที่ 150 ไร่ พร้อมแนวถนนเชื่อมต่อด่านชายแดนเชียงของ

โดยเส้นทางอยู่ในพื้นที่ จ.แพร่ ระยะทาง 77.20 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ เด่นชัย, สูงเม่น, แพร่, แม่คำมี ,หนองเสี้ยว, สอง

อยู่ในพื้นที่ จ.ลำปาง ระยะทาง 52.40 กิโลเมตร มี 3 สถานี คือ แม่ตีบ ,งาว, ปงเตา

อยู่ในพื้นที่ จ.พะเยา ระยะทาง 54.10 กิโลเมตร มี 6 สถานี คือ มหาวิทยาลัยพะเยา, บ้านโทกหวาก ,พะเยา , ดงเจน, บ้านร้อง, บ้านใหม่

อยู่ในพื้นที่ จ. เชียงราย ระยะทาง 139.40 กิโลเมตร มี 11 สถานี คือ ป่าแดด, ป่าแงะ, บ้านโป่งเกลือ ,สันป่าเหียง, เชียงราย, ทุ่งก่อ, เวียงเชียงรุ้ง, ชุมทางบ้านป่าซาง, บ้านเกี๋ยง, ศรีดอนชัย, เชียงของ

เนื่องจากเส้นทางต้องผ่านภูมิประเทศที่เป็นภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงมีการออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดินและทางรถไฟยกระดับ รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่ง ระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร โดยที่ จ.แพร่ มี 2 อุโมงค์ คือ ที่อำเภอสอง โดยอุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 3 อยู่ที่บริเวณ อ.เมือง จ.พะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ที่ อ.ดอยหลวง จ.เชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร

การเจาะอุโมงค์ทะลุภูเขาลอดใต้ผืนป่าอุทยาน ถึง 4 อุโมงค์ นอกจากเป็นเป็นไฮไลท์สำคัญของการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้ว ยังจะสร้างสถิติใหม่ เป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทย เหนืออุโมงค์รถไฟบ้านหินลับ ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ที่มีระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้นและขาล่องรวมกว่า 10.4 กิโลเมตรและด้วยสภาพพื้นที่ ตลอดสองข้างทางที่สวยงาม มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ผู้โดยสารจะเพลิดเพลินไปกับวิวผืนป่าที่เขียวชอุ่มและสดชื่นสบายตา เส้นทางรถไฟแล่นผ่านเทือกเขา สะพาน สลับกับการลอดอุโมงค์ จึงขึ้นแท่นเป็นเส้นทางรถไฟที่มีทัศนียภาพสวยงามตลอดเส้นทาง และจะสร้างความประทับใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยวเดิม และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ประกอบกับ เส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะลดระยะเวลาในการเดินทางได้เร็วกว่า 1 ชม.-1.30 ชม. เมื่อเทียบกับการเดินทางด้วยรถยนต์อีกด้วย จึงเป็นเส้นทางรถไฟแห่งอนาคต ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งด้านการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจการค้า สร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่ที่เส้นทางตัดผ่าน

ขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำการเปิดประมูลตามมติครม.ไปแล้ว แต่มีการคัดค้านโครงการ เรียกร้องให้มีการตรวจสอบและให้ชะลอการประมูล หรือยกเลิกและจัดทำทีโออาร์ จัดการประมูลขึ้นใหม่ โดยอ้างมีข้อสงสัย กำหนดทีโออาร์เอื้อประโยชน์ให้กลุ่ม ผู้รับเหมารายใหญ่ มีการฮั้วราคา ทำให้รัฐเสียประโยชน์ เนื่องจากมีการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 60 ล้านบาท

ซึ่งทุกประเด็นข้อสงสัย รฟท.ได้มีการชี้แจง ข้อเท็จจริง ว่าได้ดำเนินการโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 และดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มีการจัดทำราคากลางคำนึงถึงประโยชน์ของภาครัฐและประเทศชาติเป็นสำคัญ โดยใช้ราคากลางเดือนตุลาคม 2563 ที่ รฟท.ไม่ได้ปรับราคาใหม่ หากใช้ราคากลางใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งเป็นเดือนที่ประมูลงานนี้ ค่าก่อสร้างรวมทั้งโครงการจะมีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 4,600 ล้านบาท จึงทำให้รัฐประหยัดงบเงินได้ถึง 4,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการภายใต้โครงการข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีผู้สังเกตการณ์ที่กรมบัญชีกลางแต่งตั้งจำนวน 3 คนเข้าร่วมสังเกตการณ์ติดตาม ตรวจสอบทุกขั้นตอนโครงการมีการออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนไปแล้ว และเปิดประมูลแล้ว ด้วยค่าก่อสร้างกว่า 7.2 หมื่นล้านบาทจะเป็นเม็ดเงินที่จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานราก ที่จะเกิดการเกิดการจ้างแรงงาน สร้างงาน กระจายรายได้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในขณะนี้ และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โครงการเปิดให้บริการ จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำมาค้าขาย ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประชาชนในจังหวัด ช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อีกทาง

แต่หากเปิดประมูลใหม่ แน่นอน จะต้องจัดทีโออาร์ใหม่ ทำราคากลางใหม่ ใช้ต้นทุนปี 2564 ซึ่งราคากลางจะปรับเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน ราคาวัสดุหลักต่างๆที่ผันผวนอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะราคาเหล็ก ที่พบว่ามีการปรับเพิ่มสูงขึ้นจากเดือน ตุลาคม 2563 แล้วมากกว่า 40% อีกทั้งการเปิดประมูลใหม่ จะทำให้เกิดความล่าช้า และต้องเลื่อนโครงการออกไปอีกหลายปี ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ การประมูลใหม่ ด้วยราคาใหม่ที่แพงกว่าเดิม สุดท้ายกลุ่มทุนผู้รับเหมาได้ประโยชน์…จะมีใครรับผิดชอบหรือไม่

https://www.facebook.com/129946050353608/posts/4737414999606667/