กรมอนามัย จับมือ บ. ออร์กานอน (ประเทศไทย) ตั้งเวทีเสวนาฟังเสียงผู้หญิง สะท้อนครอบครัวคุณภาพ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับบริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนาเสียงของผู้หญิง ครอบครัวคุณภาพสู่ความยั่งยืนของประเทศ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การทำงานส่งเสริมสุขภาพของผู้หญิงไทย และการสร้างครอบครัวคุณภาพจากพลังของผู้หญิง

วันที่ 30 มิถุนายน 2564 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย คุณสิริพร ราธี ผู้จัดการโครงการ Empower Asia ประจำประเทศ UN woman ดร.วิชัย ลิมปิติกรานนท์ ผู้จัดการด้านพัฒนาธุรกิจ และเศรษฐกิจ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย และ Mr.Koen C.Kruijtbosch กรรมการผู้จัดการบริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเสวนาเสียงของผู้หญิง “ครอบครัวคุณภาพสู่ความยั่งยืน” ณ บริเวณโถงอาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ร่วมกับบริษัท ออร์กานอน (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนาเสียงของผู้หญิง ครอบครัวคุณภาพสู่ความยั่งยืนของประเทศ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์การทำงานส่งเสริมสุขภาพของผู้หญิงไทย การสร้างครอบครัวคุณภาพจากพลังของผู้หญิง โดยร่วมมือและการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระดับนานาชาติ และองค์กรเอกชน อันจะนำไปสู่การเข้าถึงบริการอนามัยการ เจริญพันธุ์ระดับชุมชน การวางแผนครอบครัวด้วยวิธีคุมกำเนิดสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการ อย่างเท่าเทียมตามสิทธิภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2573 เป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันว่า คนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย และเป้าหมายที่ 5 ว่าด้วยการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง

“ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประสบผลสำเร็จของนโยบายวางแผนครอบครัว นับตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา แต่ด้วยค่านิยมของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผู้หญิงไทยมีการศึกษาสูงขึ้น ออกไปทำงาน นอกบ้านมากขึ้น คนรุ่นใหม่มีค่านิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น แต่งงานน้อยลงและช้าลง ส่งผลให้อัตราเพิ่มประชากรลดลงจาก ร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือเพียงร้อยละ 0.2 ในปี 2563 ส่งผลให้อัตราเจริญพันธุ์รวมอยู่ในระดับต่ำ โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15 – 49 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.53 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับทดแทน และอัตราการเกิด มีเพียง 10.2 ต่อประชากรพันคน กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2560 – 2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพื่อส่งเสริมให้การเกิด ทุกราย มีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตร ส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เด็กได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่มีคุณภาพเอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย พร้อมที่จะเป็นประชากรที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 30 มิถุนายน 2564