สรรพากรสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา COVID – 19 นำมาหักเป็นค่าลดหย่อนหรือรายจ่ายได้เท่าจำนวนที่บริจาค สำหรับการบริจาคตั้งแต่ 6 มีนาคม 2564 – 5 มีนาคม 2565 ตามที่กรมสรรพากรเสนอเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วนส่วนช่วยในการรักษา ฟื้นฟู เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของ COVID – 19

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากร มีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติภาระกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ยับยั้ง การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงได้เสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้ประชาชนและภาคเอกชนได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหา เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภาระกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 โดยผู้ที่บริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีสิทธิหักลดหย่อนหรือหักรายจ่ายทางภาษี ดังนี้

1. บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา ๔๗ (7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว

2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา 65 ตรี (3) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ ผู้ที่บริจาคให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตาม 1 และ 2 จะต้องบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2564

3. ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่บริจาคสินค้าให้แก่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “กรมสรรพากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามาตรการภาษีข้างต้นจะช่วยจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ระงับ ยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข หน่วยงานของรัฐและภาคเอกชน โดยมาตรการนี้มีส่วนช่วยรักษา ฟื้นฟู เยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบ จากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศหรือที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161”

**********************************************