กรมอนามัย ลงพื้นที่ร้านอาหาร แนะให้บริการเดลิเวอรี่ ต้องคุมเข้มทุกขั้นตอน

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ลงพี้นที่สถานประกอบกิจการร้านอาหาร แนะให้บริการเดลิเวอรี่ พร้อมเน้นปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

วันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามและตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการร้านอาหารในการป้องกันและลดความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโรคโควิด-19 ณ กูสเบอร์รี่ คอฟฟี่ ร้านเจ๊จุก และร้านส้มตำดนตรีสายลวด จังหวัดสมุทรปราการ ว่า การลงพื้นที่สถานประกอบกิจการร้านอาหารในครั้งนี้ เพื่อให้กำลังใจและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังที่ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้มีประกาศให้สถานประกอบกิจการร้านอาหารในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล (จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สุมทรปราการ และสมุทรสาคร) ให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น ห้ามนั่งกินในร้าน เป็นระยะเวลา 30 วัน ส่งผลให้สถานประกอบการร้านอาหารต้องปรับตัวเพื่อบริการแบบซื้อกลับบ้าน กรมอนามัยจึงแนะนำผู้ประกอบกิจการร้านอาหารให้คุมเข้มความสะอาด โดยเลือกซื้อวัตถุดิบที่สด สะอาดจากตลาดที่ได้รับการรับรองเป็นตลาดสด น่าซื้อ ของกรมอนามัย หรือแหล่งจำหน่ายสินค้าที่เชื่อถือได้ หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ และสุขอนามัยในการปรุงประกอบอาหารต้องปรุงสุก ปรุงทีละหม้อ และไม่แนะนำให้ปรุงอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ รวมถึงวัตถุดิบและภาชนะต้องล้างสะอาด ขณะที่ผู้ประกอบอาหารต้องสวมใส่หมวก และชุดที่รักษาความสะอาด ส่วนเรื่องภาชนะที่ใส่อาหารต้องสะอาด สามารถใส่อาหารที่มีความร้อนได้ ถ้าอาหารชนิดมีน้ำก็ต้องมีฝาปิดมิดชิด และตัวอาหารต้องใส่ลงไปในภาชนะที่ใส่อาหารได้ทั้งหมด ไม่ล้นออกมาและปิดได้สนิท

“ทั้งนี้ สถานประกอบกิจการร้านอาหารที่มีการปรับตัวให้บริการแบบเดลิเวอรี ขอความร่วมมือผู้ประกอบการและพนักงานส่งอาหารเดลิเวอรีทุกคน คุมเข้มความสะอาด พร้อมยึดปฏิบัติ 4 ข้อหลักคือ 1) เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการตามมาตรการป้องกันโควิด-19 2) มีการคัดกรองพนักงานรับส่งอาหารอย่างจริงจังทุกวัน 3) มีระบบการติดตามอาการป่วยและพฤติกรรมเสี่ยงของพนักงานโดยอาจเลือกใช้การประเมินผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” และ 4) มีการจัดทำ Time line ของพนักงานในการจัดส่งอาหารแต่ละวัน และขอให้สถานประกอบกิจการร้านอาหารประเมินตนเองผ่าน Thai stop COVID Plus ส่วนผู้ประกอบการและพนักงานประเมินตนเองก่อนออกจากบ้านเพื่อมาปฏิบัติงาน กำหนดจุดคัดกรองพนักงานและผู้รับบริการ จัดให้มีที่ล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาในการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 29 มิถุนายน 2564