ชป.เดินหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชฯ หวังลดปัญหาน้ำท่วมได้ร้อยละ 90

วันที่ 26 ธ.ค.61 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ  รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน และดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช-อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาหลวงและอ่าวไทย มีลักษณะพื้นที่ทอดยาวขวางทิศทางการไหลของน้ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช น้ำจะไหลผ่านเมืองลงทะเล แต่ระบบการระบายน้ำผ่านคลองท่าดีลงสู่คลองท่าชักและคลองท่าเรือออกสู่ทะเล มีขีดความสามารถในการระบายได้เพียง 268 ลบ.ม./วินาที แต่มีปริมาณน้ำที่ต้องระบายถึง 750 ลบ.ม./วินาที อักทั้งมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ทำให้น้ำเอ่อท่วมพื้นที่ เกิดอุทกภัยซ้ำซาก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนและเศรษฐกิจของเมืองนครศรีธรรมราช

กรมชลประทาน ได้ทำการศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2545  โดยจะครอบคลุมทั้งในและนอกเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชอย่างเป็นระบบ มีแผนการปรับปรุงระบบระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ด้วยการขุดคลองผันน้ำใหม่ จำนวน 3 สาย ความยาวประมาณ 18 กิโลเมตร พร้อมกับขุดขยายคลองเดิมคือ คลองวังวัว ความยาวประมาณ 5.90 กิโลเมตร และคลองท่าเรือ- หัวตรุด ความยาวประมาณ 11.90 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำอีก 7 แห่ง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี (2561-2563)

ปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการเข้าไปปักหลักเขตชลประทานในส่วนของ คลองระบายน้ำสาย 3    คลองระบายน้ำหัวตรุด-ท่าเรือ คลองระบายน้ำคลองวังวัว คลองระบายน้ำสาย 2 และคลองระบายน้ำสาย 1(บางส่วน) เสร็จเรียบร้อยแล้ว และเริ่มงานก่อสร้างในส่วนของคลองระบายน้ำท่าเรือ-หัวตรุด งานเพิ่มประสิทธิภาพคลองท่าเรือ- หัวตรุด และงานก่อสร้างคลองระบายสาย 3 ช่วง กม.1+000-3+990 ทั้งนี้ หากโครงการฯแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถบรรเทาอุทกภัยในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและลดพื้นที่น้ำท่วมได้ประมาณร้อยละ 90 ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ 12 ตำบล ในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง มีครัวเรือนได้รับประโยชน์ 32,253 ครัวเรือน  ทั้งยังสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งได้ประมาณ 5.5 ล้าน ลบ.ม. และมีพื้นที่การเกษตรได้รับผลประโยชน์กว่า 17,400 ไร่

กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์