‘พาณิชย์’ รอดูเงื่อนไขการรับสมาชิกใหม่ CPTPP ก่อนเสนอผลการศึกษาและความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อระดับนโยบาย ประกอบการพิจารณาการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับตาการประชุม CPTPP ระดับรัฐมนตรีครั้งแรกที่ญี่ปุ่น หลังความตกลงมีผลใช้บังคับ โดยคาดว่าจะมีการหยิบยกกลไกการรับสมาชิกใหม่ขึ้นหารือระหว่างประเทศสมาชิก ก่อนนำผลการศึกษาและความเห็นจากทุกภาคส่วนในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย เสนอต่อระดับนโยบายเพื่อประกอบการตัดสินใจ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอยู่ระหว่างติดตามความคืบหน้าการบังคับใช้ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ CPTPP) ซึ่งล่าสุดทราบว่า มีสมาชิก 7 ใน 11 ประเทศ CPTPP ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ให้สัตยาบันแล้ว และจะส่งผลให้ความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับในวันที่ 30 ธันวาคม 2561 โดยสมาชิก CPTPP มีกำหนดจัดประชุมระดับรัฐมนตรี CPTPP ครั้งแรกหลังจากที่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับในกลางเดือนมกราคม 2562 ที่ญี่ปุ่น และคาดว่าจะมีวาระการพิจารณาเรื่องกลไกการรับสมาชิกใหม่ ซึ่งรายละเอียดที่จะออกมาจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาเรื่องการเข้าร่วม CPTPP ของไทย

นางอรมน กล่าวว่า ในระหว่างนี้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดสัมมนา เรื่อง “ประโยชน์ ผลกระทบ และความพร้อมของไทยในการเข้าร่วม CPTPP” ร่วมกับบริษัท โบลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) ซึ่งได้รับมอบหมายจากกรมฯ ให้ทำการศึกษาเรื่องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลง CPTPP ของไทย ซึ่งบริษัทที่ปรึกษาจะต้องนำข้อมูลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้เข้าร่วมประชุม ไปรวบรวมประกอบการจัดทำผลการศึกษา เสนอกรมฯ โดยมีกำหนดส่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ขณะเดียวกัน กรมฯ จะรวบรวมผลการศึกษาของบริษัทฯ ความเห็นที่ได้จากการลงพื้นที่ และจากการประชุมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งกลไกการรับสมาชิกใหม่ของ CPTPP เสนอระดับนโยบายเพื่อประกอบการตัดสินใจเรื่องการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทยต่อไป ในเบื้องต้นคาดว่าอาจจะเป็นช่วงไตรมาส 2 ของปี 2562 หลังการเลือกตั้งไปแล้ว

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทโบลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) ได้นำเสนอเบื้องต้นว่า การเข้าร่วม CPTPP จะทำให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปยังสมาชิก CPTPP ได้มากขึ้น โดยการส่งออกไปญี่ปุ่น สินค้าไทยจะได้ประโยชน์ เช่น น้ำมันพืช อาหารปรุงแต่ง น้ำผึ้ง ถั่วแดง ไฟเบอร์บอร์ด การส่งออกไปแคนาดา สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ไก่ปรุงแต่ง เครื่องปรุงรส อาหารปรุงแต่ง ยางรถยนต์ ล้อและส่วนประกอบ ตู้เย็น เลนส์แว่นตา การส่งออกไปเม็กซิโก สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ยางรถยนต์ เครื่องสูบเชื้อเพลิง สารหล่อลื่น ยานยนต์และส่วนประกอบ การส่งออกไปชิลี สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น ข้าว ยางรถยนต์ ถุงมือ รถจักรยานยนต์ การส่งออกไปเปรู สินค้าไทยที่ได้ประโยชน์ เช่น สับปะรด ถุงมือ เครื่องรับวิทยุ มอนิเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยด้วยการสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่ม มีการลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็น โดยเสนอให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมการสร้างตราสินค้า สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มากขึ้น รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการตั้งกองทุนที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่ลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนา เป็นต้น

ทั้งนี้ CPTPP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมกว้างทั้งเรื่องการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การเคลื่อนย้ายนักธุรกิจชั่วคราว การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม มีสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม และประชากรอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านคน หรือร้อยละ 6.7 ของประชากรโลก โดยไทยค้ากับสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ เป็นมูลค่ารวม 134.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 30 ของการค้าไทยกับโลก

———————————–

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

กระทรวงพาณิชย์