การขับเคลื่อนการเกษตร สู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย ประสาท เกศวพิทักษ์

การเกษตรกรรมเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งนี้เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ประชากรส่วนใหญ่ในอดีตอยู่ในสาขาเกษตรกรรม หรือเป็นเกษตรกร แต่จากการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติที่ทางราชการพยายามพัฒนาเศรษฐกิจในสาขาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การค้าบริการ มากขึ้นตั้งแต่แผน 1ถึงแผน 12 ในปัจจุบัน แต่สาขาเกษตรกรรมก็ยังมีความสำคัญต่อชาติตลอด ในขณะที่สาขาอื่น ๆ บางปีติดลบมาก จากพระบรมราโชวาทบางส่วนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้กับนิสิตมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2507 ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ ความว่า

เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรแต่ไหน แต่ไร รายได้ของประเทศที่ได้มาสร้างความเจริญ ด้านต่าง ๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศ ต้องอาศัยความเจริญของารเกษตรเป็นสำคัญรัฐบาลปัจจุบันจึงเน้น และให้ความสำคัญกับภาคการเกษตรและจะเห็นเกษตรกร ประสบกับชีวิตสังคมที่ “มั่นคงมั่งคั่ง และยั่งยืน” ในระยะ 20 ปีข้างหน้าภายใต้ “ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0”ประการแรกต้องทำความเข้าใจถึงนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ว่ามีความหมายอย่างไร? และมีแนวทางการพัฒนาและแปลงสู่การปฏิบัติอย่างไร? “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ยุคแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจยุคใหม่ หรือยุคที่ 4 ที่ไทยจะก้าวสู่AEC เต็มรูปแบบ โดยมีจุดมุ่งหมายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม หรือกำไรสูง” ผ่านการขับเคลื่อนแบบบูรณาการเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 3 มิติ ได้แก่ การเปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้า “นวัตกรรม” การเปลี่ยนแปลงจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และนวัตกรรมและสุดท้ายการเปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้า ไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้นซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศ ต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญจากพระบรมราโชวาทที่พระองค์นี้ ทรงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคการเกษตรมากว่า 50 ปีนั้น แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถของพระองค์เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ทุกช่วงเวลาที่ประเทศไทยประสบวิกฤติเศรษฐกิจ ภาคเกษตรเป็นภาคเดียวที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจรอดพ้นจากวิกฤติ และประเทศไทยอยู่รอดปลอดภัยมาตลอด

การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นการเปลี่ยนจากรูปแบบเดิม ๆ (Old Fashion หรือ Tradition)ในโลกยุค Analog ไปสู่ ความทันสมัย (Modern หรือ Smart) ในโลกยุค Digital ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 4 เรื่อง คือ

  1. การเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตร จากเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ไปสู่เกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการ และเทคโนโลยี (Smart Farming) เพื่อให้เกษตรกรร่ำรวยขึ้น และมีความเป็นผู้ประกอบการ ( Entrepreneur)
  2. การเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและภาคการผลิต โดยเฉพาะ SMEs จาก Traditional SMEs ที่รัฐต้องช่วยเหลือตลอดเวลาไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่สามารถพึ่งตนเองได้ และมีศักยภาพการแข่งขันสูง ตลอดจนเน้นการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยี ในกระบวนการผลิตและจัดการ เพื่อสร้างราคาและกำไรสูง
  3. การเปลี่ยนแปลงภาคบริการ จาก Tradition Servicesที่กำไรต่ำไปสู่ High Value Services ที่เน้นคุณค่า มูลค่าเพิ่มนวัตกรรมและเทคโนโลยี ที่ทำไว้ ลูกค้าพร้อมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพื่อสร้างกำไรได้มาก
  4. การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากแรงงานทักษะต่ำ (Unskilled Labor) ไปสู่แรงงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง (Skilled Labor) ผ่านกระบวนการปรับปรุงกระบวนการการศึกษา การเรียนรู้ และฝึกอบรม เพื่อสร้างProductivity ของประเทศให้สูงขึ้น และแรงงานไทยมีค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น

แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงด้านเกษตรกรรมเท่านั้น เผอิญเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ไปปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ด้านการเกษตร อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ” ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร จึงขอนำบางส่วนมาเล่าสู่กันดังนี้

วันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทุกคนต้องก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าสถานการณ์ภายนอก เช่น สภาพภูมิอากาศโลก โรคระบาด ภัยพิบัติ เป็นต้น ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทุกคนต้องเรียนรู้เท่าทันสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รัฐบาลมีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และต้องการให้คนไทยมีความกินดี อยู่ดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพึ่งตนเองได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงให้ความสำคัญต่อการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model)ในทุกมิติทั้งภาคธุรกิจ เกษตร การศึกษา ไปสู่ Model ใหม่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อเน้นการแก้ปัญหาให้ประเทศไทย หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่จากระบบเศรษฐกิจที่เน้นการผลิตโดยใช้แรงงาน เครื่องจักร และทรัพยากรมาผลิตบนฐานความรู้และเทคโนโลยี ความคิด สร้างสรรค์ นวัตกรรมเพื่อพัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจไทยไปสู่ เศรษฐกิจที่เน้นคุณค่าและเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและบริการ โดยมุ่งเน้น การพัฒนา 5 กลุ่ม เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย ประกอบด้วย

  1. กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ
  2. กลุ่มสาธารณะ สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
  3. กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์ และระบบเครื่องกล ที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
  4. กลุ่มดิจิตอลเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต ที่เชื่อมต่อการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว
  5. กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ วัฒนธรรมและการบริการที่มีค่าบริการสูง

ทั้ง 5 กลุ่มนี้จะต้องพัฒนาด้วยตนเองเป็นหลัก และสอดรับกับหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งยังต้องสอดรับ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ในโอกาสนี้คงจะกล่าวถึงการพัฒนาการเกษตร ที่อยู่ในแผนพัฒนา กลุ่มที่ 1 โดยเฉพาะเรื่องการผลิตที่จะก้าว หรือขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 การขับเคลื่อนและผลักดันการพัฒนาการเกษตรที่ใช้ระบบการผลิตแบบเดิม ๆ สู่ระบบการผลิตที่ทันสมัย มีการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่นั้น ประการแรกคงต้องยอมรับว่าระบบการผลิต ตามระบบเกษตรดีที่เหมาะสม (Good AgriculturalPractices = GAP) เป็นระบบที่สามารถพัฒนา “สู่ไทยแลนด์ 4.0” ได้

เพราะถ้าทุกขั้นตอนตามกระบวนการผลิต ทำได้อย่างถูกต้อง โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมรองรับ ซึ่งทางราชการพยายามสนับสนุนส่งเสริม ให้เกษตรดำเนินตามมาตรฐาน GAP มากว่า 10 ปี ทำไม?จึงก้าวไปช้ามากกว่า 5 ล้านรายขบวนการหรือขั้นตอนต่าง ๆ ในระบบเกษตรดีที่เหมาะสมเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ประกอบด้วย

  1. เลือกพื้นที่ หรือใช้พื้นที่ดินให้เหมาะสมกับพืชที่จะปลูกเกษตรกรจะพิจารณาจากปัจจัยอะไร? จากข้อเท็จจริงประเทศไทยมีชุดดิน แตกต่างกันไปมากกว่า 200 ชุดดิน (Soil Series) เกษตรกรจะทราบได้อย่างไรว่าที่ดินของตนเองเป็นชุดดินอะไร เหมาะกับพืชที่ปลูกอยู่หรือไม่ แม้ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินจะจัดรวบรวมดิน ที่มีลักษณะความเหมาะสมคล้ายกันเป็นกลุ่มชุดดิน โดยชุดดินที่คล้าย ๆ กันรวมกันเป็นกลุ่มชุดดินได้ 62 กลุ่มชุดดิน แนวทางผลักดันการใช้เทคโนโลยีด้านดิน เป็นปัจจัยพื้นฐานที่เกษตรกรต้องรู้เป็นประการแรก กรมพัฒนาที่ดินจะต้องปรับยุทธศาสตร์การกระจายเทคโนโลยี หรือทำอย่างไรให้เกษตรกรเข้าถึงได้ง่าย และมากที่สุดเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพสูงสุด
  2. การจัดการดิน เมื่อเกษตรกรรู้ถึงสมรรถนะของดิน (Soil Capability) ก็จะทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการดินอย่างเหมาะสม เช่น กรณีดินมีอินทรียวัตถุต่ำ จะต้องปรับปรุงบำรุงดินด้วย ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก และปุ๋ยอินทรีย์อื่น ๆ ในกรณีดินมีชั้นดินดานจำเป็นจะต้องระเบิดชั้นดินดานโดยไถสิ่ว ปัญหาคือค่าใช้จ่ายในการจัดการดินเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น บางพื้นที่อาจมีปัญหาในการหารถไถรับจ้างที่มีไถสิ่วที่มีน้อย ทั้งด้านต้นทุนและอุปกรณ์ที่มีปัญหาล้วนเป็นปัญหาในการขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีด้านการจัดการดิน ที่ทางราชการจะต้องพิจารราว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถจัดการดินได้อย่างถูกต้อง
  3. การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสม การใช้เทคโนโลยีด้านพันธุ์พืชเป็นเทคโนโลยีที่ภาคเกษตรกร มีความรู้ความเข้าใจ และ

ยอมรับมากที่สุด แต่ก็ยังมีปัญหาด้านการเข้าถึง หลายพืชเกษตรกรต้องการใช้พันธุ์ดี เช่น พันธุ์ข้าว เกษตรกรยอมรับพันธุ์ของทางราชการ แต่ราชการสามารถผลิตได้ไม่ถึงร้อยละ 50 ของความต้องการพันธุ์ข้าวโพด เกษตรกรนิยมใช้พันธุ์ของเอกชนที่ให้ผลผลิตสูงแต่ราคาเมล็ดพันธุ์ก็สูงด้วย เกษตรกรบางรายขาดทุนทรัพย์ในการจัดหา บางรายไม่ต้องการใช้เพราะต้องทำคล้ายระบบเกษตรแบบมีพันธะสัญญาที่เกษตรกรเสียเปรียบ ดังนั้นด้านการพัฒนาพันธุ์ดีโดยเกษตรกร เพื่อใช้ในกลุ่มของตนเองจะทำอย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงการใช้พันธุ์ดีได้อย่างทั่วถึง

  1. เกษตรกรปลูกอย่างถูกต้องตามฤดูกาล เพื่อลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะทราบดีถึงฤดูกาลที่เหมาะสม แต่บางครั้งก็มีปัญหาด้านการเตรียมดินที่ไม่สามารถเร่งรัดได้ เนื่องจากเกษตรกรไม่มีเครื่องจักรของตนเอง ทำให้ไม่สามารถกำหนดการปลูกตามฤดูกาลได้ การสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพอที่จะรองรับความต้องการ หรือสร้างกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกันในระบบเครือข่ายที่มีอุปกรณ์พร้อมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เพื่อสอดคล้องกับ“ไทยแลนด์ 4.0” ที่สนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการเอง
  2. การเกษตรกรรม หรือวิธีการปลูก การปลูกตามคำแนะนำ ของทางราชการ ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรยอมรับคำแนะนำในเรื่องระยะปลูก หรือจำนวนต้นต่อไร่ในหลาย ๆ พืช แต่ที่สำคัญเมื่อปลูกแล้วจำนวนต้นไม่ครบหรือขาดหายไปเกษตรกรมักไม่ค่อยปลูกซ่อมโดยข้อเท็จจริงหากจำนวนต้นหายไปร้อยละ 5 ผลผลิตก็จะลดลงร้อยละ 5 ดังนั้นการที่จะให้เกษตรกรปลูกพืชและได้ผลผลิตได้ดีจะต้องมีจำนวนต้นต่อไร่ครบ นั่นคือจะต้องปลูกซ่อมเสมอ การทำความเข้าใจกับเกษตรกรในการปฏิบัติด้วย
  3. การใช้ปุ๋ย หรือการจัดการธาตุอาหารพืช เรื่องนี้มักมีปัญหาทั้งด้านเทคโนโลยี และการใช้ด้านเทคโนโลยีด้านการจัดการธาตุอาหารหรือการใช้ปุ๋ยกับพืชต่าง ๆ ที่เป็นคำแนะนำทั่วไป(General Recommendation) นั้นได้จัดทำขึ้นราว ๆ ปี 2518ซึ่งสภาพดินทั้งด้านกายภาพและด้านเคมี แตกต่างจากปัจจุบันมากอีกประการหนึ่งการจัดทำ คำแนะนำมีข้อจำกัด ที่ผู้ใช้หรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรสมัยนั้นมีขีดจำกัดในการใช้ จึงทำให้มีการปรับคำแนะนำตามชุดดิน เป็นตามสีดินเป็นต้น อีกประการหนึ่งคำแนะนำ ที่ออกมานั้นเน้นผลตอบแทนจากการใช้ปุ๋ยต่อหน่วย มากกว่าความยั่งยืน ปัจจุบันจึงมีปัญหาความเสื่อมโทรมของดิน แม้จะจะมีการใช้ปุ๋ยก็ตาม อีกประการหนึ่งการใช้ก็ไม่ค่อยถูกต้อง เช่น ใส่ปุ๋ยแล้วไม่กลบปุ๋ย ดังนั้นเพื่อให้การใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นปรับปรุงคำแนะนำ พร้อมทั้งเร่งรัด ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องให้กับเกษตรกรอย่างทั่งถึงต่อไปโดยไว
  4. การดูแลรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม การดูแลรักษาในที่นี้หมายถึงวิทยาการด้านการอารักขาพืช รวมทั้งวิทยาการด้านวัชพืชเป็นภาคส่วนที่สำคัญมากสาขาหนึ่ง เนื่องจากหากมีการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพผลผลิตอาจเสียทั้งหมดก็ได้ ในทางกลับกันการใช้สารเคมีมากเกินไปก็จะทำให้มีผลตกค้างในผลิตผลทำให้ราคา หรือมูลค่าผลิตผลลดลง และอาจถูกกีดกันด้านการค้าในกรณีมีสารตกค้างในผลิตผลเกินมาตรฐาน ส่วนการบริหารจัดการด้านวัชพืช ก็เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีการนำเข้ามากที่สุดในบรรดาสารเคมี ผลจากการใช้สารจำกัดวัชพืช นอกจากจะทำให้ต้นทุนสูงในบรรดาสารเคมี ผลจากการใช้สารกำจัดวัชพืช นอกจากจะทำให้ต้นทุนสูงแล้ว อาจมีผลต่อคุณภาพดิน และสภาพแวดล้อมกล่าวได้ว่าการดูแลรักษาพืชในปัจจุบันยังขาดประสิทธิภาพ บางครั้งยังมีการใช้สารเคมีต้องห้าม การควบคุม และกำหนดมาตรการใช้ให้กับเกษตรกรอย่างถูกต้องทั่วถึง และสร้างความตระหนักถึงผลของการใช้สารเคมีก?ำจัดพืชอย่างไม่ถูกต้อง พร้อมสร้างการยอมรับขบวนการดำเนินการที่ถูกต้อง อย่างเร่งด่วน
  5. การเก็บเกี่ยวและการขนส่ง ในเรื่องการเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่เกษตรกรส่วนมากเก็บเกี่ยวถูกต้องตามอายุการเก็บเกี่ยวเนื่องจากมีผลต่อคุณภาพสินค้าและราคาผลผลิต จึงต้องปฏิบัติหากไม่ปฏิบัติก็อาจก่อความเสียหายให้กับเกษตรกรเอง การเก็บเกี่ยวปัจจุบันได้พัฒนาไปสู่การใช้เครื่องจักรตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”หลายชนิด แต่หลายชนิดก็ยังใช้แบบและวิธีเก่า ๆ เช่น การกรีดยางดังนั้นการเก็บเกี่ยวต้องพัฒนาตามชนิดพืช สำหรับการขนส่งปัญหาการปนเปื้อนมีน้อย

สรุป : การขับเคลื่อนการเกษตรให้สอดคล้องกับหลักการของ “ไทยแลนด์ 4.0” จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ตามนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ทั้งภาครัฐและเกษตรกรจะต้องร่วมกันแก้ไขข้อจำกัดที่เกิดขึ้นทั้งการจัดทำ จัดสร้างเทคโนโลยี ที่เหมาะสม สะดวกต่อการนำไปใช้ พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรนำไปใช้อย่างถูกต้อง เหมาะสม “เพื่อให้เกษตรกร มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน หลุดพ้นจากกลุ่มผู้ยากไร้ เป็นผู้มีรายได้สูงใน 20 ปีข้างหน้า