ปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตไม่เหมาะสม ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) พลิกชีวิตสร้างรายได้

นโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการดำเนินการปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตไม่เหมาะสม ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป็นการผลิตที่เหมาะสมสอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ตลาดและตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงเกษตรฯ บูรณาการร่วมกัน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน ร่วมกับ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมหม่อนไหม สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ การยางแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่ง กรมพัฒนาที่ดิน ได้ทำการสนับสนุนและส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง

กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ได้ทำการลงพื้นที่ บ้านนาฝากหมู่ 7 ต.นาฝาก อ.โพนทอง จ.หนองคาย ของนายเฉลิมศักดิ์ โพธนิกร เกษตรกรวัย 39 ปี จากการสำรวจพื้นที่พบว่า ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม เจ้าหน้าที่ของสถานีพัฒนาที่ดินหนองคายได้เข้าพบเกษตรกร เพื่อชี้แจงและแนะนำให้เกษตรกรได้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตไม่เหมาะสม ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map)

จากนั้น สถานีพัฒนาที่ดินหนองคาย ได้เริ่มดำเนินการปรับโครงสร้างของดิน ประกอบด้วยกิจกรรมปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 1 ปรับรูปแปลงนาลักษณะที่ 2 การปรับแปลงนาแบบร่องน้ำยกคัน เพื่อปลูกพืชแบบผสมผสาน พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต อาทิเช่น ปุ๋ยหมักจากสารเร่ง ซุปเปอร์ พด.1 น้ำหมักชีวภาพ จากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 โดโลไมท์เพื่อปรับปรุงดินกรด เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่ พร้อมพานายเฉลิมศักดิ์ไปศึกษาดูงานจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ที่จังหวัดอุดรธานี

นายเฉลิมศักดิ์ โพธนิกร เปิดเผยว่า “ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นพนักงานเอกชน มีรายได้รวมกับแฟนสาว ราว 60,000 บาทต่อเดือน หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิดรอบที่ 1 ทำให้เหลือรายได้ทั้งสองคนรวมกันเพียงหมื่นกว่าบาทต่อเดือน ทำให้ต้องตัดสินใจกลับบ้าน ซึ่งยังไม่มีจุดมุ่งหมาย หลังจากกลับมาบ้านเพียง 3 วัน ได้ออกจากบ้านมาอยู่ทุ่งนา หวังพลิกพื้นที่นาเดิมกว่า 18 ไร่ ที่แม่มอบให้และเคยทำนามาทุกปีก็ขาดทุนตลอด จนต้องปล่อยทิ้งร้าง แล้วทำนาแค่บางส่วน แต่ก็ยังพบปัญหาต้นทุนสูง ผลิตต่ำมาโดยตลอด ในวันนั้นทั้งคนรอบข้างและคนในหมู่บ้านมองว่าตนเองบ้า ที่จะมาพักอยู่ทุ่งนาที่ไม่มีไฟ ไม่มีน้ำใช้

ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมโครงการฯ ในระยะเวลาไม่ถึง 6 เดือน ได้ปรับปรุงพื้นที่การผลิตให้เหมาะสมและทำกิจกรรมที่หลากหลายในรูปแบบเกษตรผสมผสานในพื้นที่ของตนเอง ทั้งทางด้านพืช การปลูกกล้วย ไม้ผล พืชผักสวนครัว และเห็ดนางฟ้า ด้านประมง การเลี้ยงปลาดุก ปลาช่อนในบ่อดินและในกระชัง ด้านปศุสัตว์ การเลี้ยงเป็ดไข่ นกกระทา รวมไปถึงเลี้ยงด้วงมะพร้าว และกิจกรรมการเลี้ยงแหนแดง เพื่อใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ ทำให้ปัจจุบันมีรายได้หมุนเวียนจากกิจกรรมต่างๆ ต่อเดือนหลังจากหักค่าใช้จ่าย รวม 65,300 บาท จากการขายไข่เป็ด 39,300 บาท ไข่นก 6,000 บาท ปลากะซัง 7,000 บาท ด้วงมะพร้าว 10,000 บาท เห็ดนางฟ้า 3,000 บาท ซึ่งทำให้มีรายได้เฉลี่ยวันละ 2,176 บาท”

“ถ้าไม่มีพัฒนาที่ดินเข้ามาช่วยเหลือ ผมคงไม่มีวันนี้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือผมจริงๆ และทำให้คนรอบข้างเห็นว่าผมไม่ได้บ้า”นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

…………………………………………………