ปปง. โชว์ยึดและอายัดทรัพย์บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต กว่า 4,600 ล้านบาท

วันที่ 24 ธันวาคม 2561 พลตำรวจเอก รุ่งโรจน์  แสงคร้าม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พร้อมด้วย พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รองเลขาธิการฯ และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ปปง. ร่วมกับ พลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สรรพากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต  ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินที่ศาลแพ่งมีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินในรายคดีนายธงชัย  โรจน์รุ่งรังสี กับพวก รวมมูลค่ากว่า          4,600 ล้านบาท

รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์          จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและดำเนินคดีกับกลุ่มบริษัทและห้างร้านที่มีพฤติการณ์เกี่ยวพันกับทัวร์ศูนย์เหรียญ และการหลีกเลี่ยงภาษี เพื่อลดการผูกขาดและการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสำนักงาน ปปง. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพากร เป็นต้น เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยในการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินในรายคดี นายธงชัย  โรจน์รุ่งรังสี กับพวก หรือ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ในครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.158/2561 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 และคดีหมายเลขดำที่ ฟ.84/2561 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีคำสั่งให้เลขาธิการ ปปง. เป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว ประกอบด้วย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เช่น อาคารชุด โรงแรมหรูในจังหวัดชลบุรี บริษัทจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 97 รายการ มูลค่า 2,964 ล้านบาท เงินฝากในบัญชีธนาคาร จำนวน 30 รายการ มูลค่า 136 ล้านบาท และสลากออมสิน จำนวน 2 รายการ มูลค่า 1,500 ล้านบาท  รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดและอายัดทั้งสิ้น 4,600 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าว สำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากกรมสรรพากรให้ดำเนินการตรวจสอบ เนื่องจากมีพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดในเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งกรมสรรพากรได้ตรวจสอบการชำระภาษีของ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554 – 2559 พบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นวงเงินกว่า       7,000 ล้านบาท อันเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามมาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร        ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทรัพย์สินที่ได้จากการยึดและอายัดในครั้งนี้ สำนักงาน ปปง. จะดำเนินการบริหารจัดการทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต่อไป ทั้งนี้ หากประชาชนพบการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสมายังสำนักงาน ปปง. ได้ที่สายด่วน ปปง. 1710

 

*****************************