รอง อธิบดี พช. ลงพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ เดินหน้าพัฒนาพื้นที่ โคก หนอง นา ตามหลัก “บวร”

วันที่ 21 มิถุนายน 2564 นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย นางสาวมนทิรา เข็มทอง พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายสหชัย แจ่มประสิทธิสกุล นายอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ และคณะ เข้านมัสการพระคุณเจ้า พระภาวนามังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ คณะสงฆ์ และตรวจเยี่ยมแปลงเป้าหมายที่จะเข้าร่วมสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา” ณ วัดวรราชาทินัดดามาตุ และ วัดพุทธมงคลเทพนิมิตร ตำบลหนองย่างทอย อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รองอธิบดี พช. กล่าวว่า ต้องขอกราบขอบคุณในความเมตตาของ พระคุณเจ้า พระภาวนามังคลาจารย์ และคณะพระสงฆ์ ที่สนใจการดำเนินโครงการโคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีภารกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความสุข มีความมั่นคงในครัวเรือน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการขับเคลื่อนการพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 และ กรมการพัฒนาชุมชน ได้รับมอบหมายให้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และการมีส่วนร่วม ของประชาชน โดยเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการพัฒนาคน ให้พึ่งตนเอง มีความเป็นเจ้าของและบริหารจัดการโดยชุมชน พัฒนาหมู่บ้านหรือชุมชนให้มีวิถีชีวิตเศรษฐกิจ พอเพียงและเป็นสังคม “อยู่เย็น เป็นสุข”

ด้าน พระภาวนามังคลาจารย์ กล่าวตอบว่า อาตมาขออนุโมนากับกรมพัฒนาชุมชน ที่ร่วมขับเคลื่อนและผลักดันโครงการ โคก หนอง นา ซึ่งเป็นโครงการที่ดีในการสร้างความมั่นคงเรื่องอาหารให้กับประชาชนในยุคโควิด -19 นี้ วัดวรราชาทินัดดามาตุ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่ 15 ไร่ และวัดพุทธมงคลเทพนิมิตร 3 ไร่ ยินดีที่มอบให้กรมพัฒนาชุมชนไปพัฒนาพื้นต้นแบบ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดสรร ทำเป็นโคก หนอง นา การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรโดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการปลูกผักสวนครัวเลี้ยงพระภิกษุ-สามเณรที่จำพรรษาอยู่ที่นั้น พร้อมกับสงเคราะห์ญาติโยมที่อาศัยอยู่รอบบริเวณนั้น หากไม่มีที่ดินทำกินหรือไม่มีที่ปลูกผัก สามารถมาขอทำมาหากินที่ดินของวัดได้เลย

นายสุรศักดิ์ อักษรกุล รอง อธิบดี พช. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าว่า การขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ สู่ “โคก หนอง นา พช.” ขับเคลื่อนชุมชนตามหลัก “บวร” เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของ “บวร” บ้าน วัด ราชการ เพื่อเป็นศูนย์เรียนเรียนรู้ เป็นพื้นที่การพัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาพื้นที่โดยแบ่งเป็นสัดส่วนมี โคก สำหรับปลูกป่า 3 อย่าง คือ ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้เศรษฐกิจ ป่าไม้กินได้ ประโยชน์ 4 อย่าง พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น และการปลูกป่า 5 ระดับ ไม้สูงไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เลื้อยเรี่ยดิน ไม้หัวใต้ดิน ปลูกผักสร้างความั่นคงทางอาหาร พื้นที่หนอง เอาไว้แหล่งกักเก็บน้ำไว้สำหรับฤดูแล้ง การขุดคลองไส้ไก่ สร้างความชุ่มชื่นให้พื้นที่พื้นที่นา ไว้ปลูกข้าว ทำนา

สามารถสร้างพื้นที่การพัฒนาคุณภาพให้พี่น้องชาวบ้าน เป็นสังคมแห่งการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันเป็นการดำเนินงานการขับเคลื่อนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่เป้าหมายความยั่งยืนโลก Sufficiency Economy Philosophy to Sustainable Development Goals (SEP to SDGs) ข้อที่ 1 No Poverty การขจัดความยากจน ข้อที่ 2 Zero Hunger ขจัดความหิวโหยและความอดอยาก รวมไปถึงแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน และข้อที่ 6 Clean Water and Sanitation การจัดการน้ำและสุขาภิบาล และเราคาดว่าการขับเคลื่อนโครงการนี้ จะเป็นการสร้างคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ขจัดความยากจนทุกช่วงวัย ทำงานในทุกมิติมาพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ขาดแคลนโอกาสและด้อยโอกาส การได้รับความเมตตาจากพระคุณในการให้ใช้ที่ดินในการดูแลของวัด ในการดำเนินการโครงการโคก หนอง นา ถือว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในพื้นที่ และรวมทั้งเป็นการสร้างแหล่งผลิตอาหาร แก่ผู้ยากไร้ ในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร สร้างคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต