กระหึ่ม! พ่อเมืองพิบูลฯ สุดประทับใจ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ “โคก หนอง นา พช.” อุบลราชธานี น้อมนำแนวพระราชดำริ รวมพลังเอามื้อสามัคคีต่อเนื่อง

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร พร้อมด้วย นางพัชรินทร์ ธรรมสาร พัฒนาการอำเภอพิบูลมังสาหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอ นักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ผู้นำชุมชน ครัวเรือนเป้าหมาย และเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา พช.” และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ตำบลโนนกลาง และตำบลอ่างศิลา อำเภอพิบูลมังสาหาร เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ และแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน

โดยกิจกรรมดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ในการน้อมนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดทฤษฎีใหม่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม การพึ่งพาตนเอง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน

ในเวลา 10.00 น. คณะฯ ได้ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลง HLM ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ของนางดวงแก้ว บัวใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 บ้านหนองไฮ ตำบลโนนกลาง โดยนายอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้ทำการปลูกต้นกล้วย เพื่อเป็นศิริมงคลให้กับครอบครัว ตลอดจนพัฒนาการอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้ร่วมปลูกต้นพะยูงด้วย

ต่อมาเวลา 10.30 น. นายอำเภอพิบูลมังสาหาร และคณะฯ ได้ร่วมติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลง HLM ของนายสมพร วัฒนา ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านโดมประดิษฐ์ ตำบลโนนกลาง โดยนายอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้แนะนำถึงการดำเนินการ โคก หนองนา กรมการพัฒนาชุมชนและการขุดคลองใส้ไก่ ของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งอยู่ติดกันว่าต้องบูรณาการแบบแปลงนี้

ปิดท้ายในเวลา 11.30 น. นายอำเภอพิบูลมังสาร และคณะฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ณ แปลง HLM ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ ของนายศัตวรรต นันทะโคตร หมู่ที่ 1 ตำบลโนนกลาง ตามโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยมีกิจกรรม ประกอบด้วย กิจกรรมปล่อยปลา ซึ่งเป็นปลาตะเพียน ที่ทางเจ้าของแปลงได้จัดเตรียมไว้ / กิจกรรมปลูกต้นไม้ ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ได้จัดสรรคจากกิจกรรมเอามื้อสามัคคี ที่ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนได้ดำเนินการ / กิจกรรมหว่านข้าว ไถกลบ เพื่อปลูกข้าวไว้กิน / กิจกรรมแจ้งและชี้แจงแผนการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย เมื่อการขุดโคก หนอง นา เสร็จสิ้น

ซึ่งประกอบด้วยภาคีเครือข่ายหลายหน่วยงาน เช่น ประมงอำเภอ ซึ่งจะดำเนินการบรรจุแผนเพื่อสนับสนุนพันธุ์ปลาในปีที่ 2 และให้ความรู้ในปีแรก ส่วนเกษตรอำเภอ จะให้คำแนะนำเรื่องการปลูกพืช และลงทะเบียนเกษตร พร้อมแนวทางการสนับสนุน ปศุสัตว์ ก็มีแนวทางในการสนับสนุน จากหน่วยงานภาคีที่อยู่ใกล้เคียง พร้อมกันนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลโนนกลาง ได้ชี้แจงในเรื่องการให้ความร่วมมือ และการสนับสนุนโครงการโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” รวมถึงบุคคลากรที่มาช่วยเรื่องการควบคุมงานขุดด้วย

โอกาสนี้ นายอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้พบปะกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่า “ขอชื่นชมการดำเนินงานเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนถิ่น และการช่วยเหลือเกื้อกูล โดยในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาชุมชนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนมีความรักสามัคคี เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูล เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.”

ซึ่งเป็นน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา ต่อยอด และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในการพึ่งตนเองและสร้างทางรอดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผมมุ่งหวังให้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” นั้น จะเป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ ซึ่ง โคก หนอง นา เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ โอกาสนี้ กับให้กำลังใจทีมงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหารทุกคนที่ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ในวันนี้” นายฤทธิสรรค์ กล่าวด้วยความยินดี

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพิบูลมังสาหาร ภาพข่าว/รายงาน