พด. เล็งปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน ภัยแล้ง เร่ง…จัดสัมมนา “ขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค : เส้นทางสู่ความมั่นคงทางอาหาร”

วันที่ 19 ธันวาคม 2561 กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดสัมมนาวิชาการ “ขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค : เส้นทางสู่ความมั่นคงทางอาหาร” ภายใต้โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน (Decision Support for Mainstreaming and Scaling up of Sustainable Land Management : DS-SLM) โดยกรมพัฒนาที่ดิน องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility: GEF) ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิด และ ดร. บรรเจิดลักษณ์ จินตฤทธิ์ รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านปรับปรุงดินเปรี้ยว ผู้ประสานงานโครงการ DS-SLM กล่าวรายงานที่มา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของโครงการฯ

เนื่องจากปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน ภัยแล้ง และการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (Land Degradation Drought and Desertification) ที่เกิดขึ้นทั่วไป อย่างต่อเนื่อง และรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ดังนั้น องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงได้จัดทำโครงการความร่วมมือร่วมกับประเทศต่างๆ 15 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งโครงการ DS-SLM เน้นแก้ไขปัญหา ใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านหน่วยงานและนโยบาย ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านความรู้และเทคโนโลยี โดยดำเนินงานแบบบูรณาการ ทั้งในด้านวิชาการและการปฏิบัติ เน้นการพัฒนาองค์ความรู้ และฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงจากระดับพื้นที่สู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก ช่วยสนับสนุนให้เกิดการ ขยายผลและขับเคลื่อนการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในเชิงนโยบาย รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในการดำเนินงานจำเป็นต้องมีการประเมินปัญหา อุปสรรค และความท้าทายในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมโทรมของที่ดิน และภัยแล้ง รวมทั้งใช้หลักการทำงานแบบมีส่วนร่วมเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน ลดความรุนแรง และฟื้นฟูผลกระทบของปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน และภัยแล้ง ขยายผลแนวทางปฏิบัติสู่ระดับนโยบายเพื่อสร้างการสนับสนุนในเชิงนโยบาย งบประมาณและความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพในการขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนให้เป็นระบบ อันจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการใช้ที่ดิน และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

ซึ่งการจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและความสำคัญของการจัดการความเสื่อมโทรมของที่ดิน แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์จากภาคส่วนต่างๆ  เพื่อทราบปัญหา อุปสรรค และความท้าทายเกี่ยวกับการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และการกำหนดแนวทางการขยายผลและการผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน   ในงานประกอบด้วยการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนกับการสร้างความมั่นคงทางอาหาร” โดย รศ.ดร. ชาลี นาวานุเคราะห์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม และการเสวนาจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ  ในหัวข้อ “การขับเคลื่อนและขยายผลการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค” มีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ. อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์  จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  นายธนกร รัชตานนท์  จากโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ  จังหวัดน่าน นายสำรวย ผลัดผล จากโครงการรักษ์ป่าน่าน และ นายวินัย กรีทอง จากบริษัทเบทาโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินการเสวนา โดย ดร. สถาพร ใจอารีย์ ผู้อำนวยการกองสำรวจและจำแนกดิน กรมพัฒนาที่ดิน

และมีการจัดแสดงนิทรรศการของโครงการฯ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดงานครั้งนี้: เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านความเสื่อมโทรมของที่ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ทำการเกษตร รวมทั้งให้ความรู้ สร้างความเข้าใจถึงผลกระทบของความเสื่อมโทรมของที่ดิน และประโยชน์ที่ได้จากการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และแนวทางที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็น ประสบการณ์ที่เกี่ยวกับปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความเสื่อมโทรมของที่ดินขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มของรุนแรงเพิ่มขึ้น เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับภูมิภาค มีส่วนร่วม และเกิดการสร้างเครือข่ายในการทำงานด้านการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน  และมีการเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าว ขยายผล และผลักดันให้เกิดการนำการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนไปใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของที่ดิน สู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งจากภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการปกครอง  กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา  ภาคเอกชน หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หมอดินอาสา และเกษตรกร จำนวน 120 คน ณ โรงแรมเทวราช อำเภอเมือง จังหวัด

รายงาน/ภาพ : พัชนี เค้ายา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ #สพข. 4