สำนักงาน ก.ค.ศ. ขอประชาสัมพันธ์ ข่าว เรื่อง สำนักงาน ก.ค.ศ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย

สำนักงาน ก.ค.ศ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และยกระดับครูสู่วิชาชีพชั้นสูง

วันที่ 18 มิถุนายน 2564 รศ.ดร. ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และยกระดับครูสู่วิชาชีพชั้นสูง โดยมี นางสุปราณี นฤนาทนโรดม นางสาวเจริญวรรณ หนูนาค รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญของสำนักงาน ก.ค.ศ. และผู้อำนวยการภารกิจที่เกี่ยวข้อง ร่วมเป็นสักขีพยานผ่านระบบออนไลน์ ณ ห้องประชุมสุรัฐ ศิลปอนันต์ อาคาร รัชมังคลาภิเษก สำนักงาน ก.ค.ศ. กระทรวงศึกษาธิการ

สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างสำนักงาน ก.ค.ศ. กับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ ในส่วนของสภาคณบดี คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย มี รศ.ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามในบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ (MOU) โดยมี รศ.ดร.วินัย พูนศรี คณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เข้าร่วมประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2/2564 ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา จังหวัดพะเยา ซึ่งเป็นการลงนามในบันทึกข้อตกลงพร้อมกันผ่านระบบออนไลน์ และเป็นการดำเนินการภายใต้การป้องกันการแพร่ระบาดจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

โดย รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตครูและต้องนำนโยบาย กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนดไปปฏิบัติในการผลิตและพัฒนาครูฯ ได้มีหนังสือขอสนับสนุนการกำหนดเกณฑ์การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมติที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ แห่งประเทศไทยมายังสำนักงาน ก.ค.ศ. และสำนักงาน ก.ค.ศ. พิจารณาเห็นว่าการดำเนินการความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับทางราชการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จึงได้เสนอต่อที่ประชุม ก.ค.ศ. ในคราวประชุมครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบที่ 2 หน่วยงานจะได้ร่วมมือกัน ในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาและงานด้านวิชาการ โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนของสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่เรียกว่า 5 คานงัดในการขับเคลื่อนการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

รศ.ดร.ประวิตเอราวรรณ์ กล่าวต่อว่า เมื่อสำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับการสนับสนุนและคำแนะนำด้านการศึกษาและวิชาการ ด้านการพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จากสถาบันหรือหน่วยงานทางวิชาการที่ได้รับความเชื่อถืออย่างสูงจากสังคม จะทำให้การพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูงจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งเบื้องต้นได้วางแผนการดำเนินงานร่วมกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ไว้หลายเรื่องแล้ว เช่น การพัฒนาระบบการสรรหาที่ต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบการผลิตครู การสนับสนุนในการเป็นกรรมการประเมินวิทยฐานะ การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนเข้าสู่ตำแหน่งในรูปแบบใหม่ การออกแบบหลักสูตรที่จะนำมาใช้ในแต่ละด้าน รวมทั้งการสนับสนุนงานวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ต่อวงการวิชาชีพครู และการจัดการศึกษาของประเทศที่จะเกิดเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และนอกจากนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ. ก็ยังได้เตรียมดำเนินการขอรับการสนับสนุนทางวิชาการและการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนากลไกการทำงานด้านบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย

ด้าน รศ.ดร.สมบัติ นพรัก ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ว่า สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย ได้เห็นชอบการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ โดยครั้งนี้ถือเป็นการผนึกกำลังทางวิชาการครั้งสำคัญ ซึ่งจะทำให้เกิดพัฒนางานวิชาการรวมถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจังและเป็นระบบ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายอันดี และเชื่อว่าในอนาคตการผลิตการพัฒนาครูและการกำหนดกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็จะได้รับความร่วมมือจากทั้งสองหน่วยงานเป็นอย่างดี