กรมประมง..เตรียมคลอด ! แผนและแนวทางพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน

กรมประมงผ่านการพิจารณาแผนงานและ แนวทางในการพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน เพื่อเสนอตามขั้นตอนต่อไป ก่อนปูพรมมอบคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด 23 จังหวัดชายทะเล นำไปบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้พี่น้องชาวประมงสามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

​นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า จากการที่ภาครัฐมีเจตจำนงในการจัดทำนโยบายและแนวทางการพัฒนาประมงพื้นบ้านของไทย ให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน และการเยียวยาชาวประมงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ

โดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่มุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวประมงในการดูแล รักษา และใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าและเกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากทางภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคการศึกษา ได้แก่ ผู้แทนจากกรมประมง สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สมาคมรักษ์ทะเลไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แผนงาน และแนวทางในการพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านฯ พร้อมทั้งติดตามการดำเนินงานและผลักดันให้การพัฒนาประมงพื้นบ้านสอดคล้องกับนโยบายแผนงานดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านกรมประมง ได้มีการประชุมและหารือร่วมกันในการจัดทำข้อเสนอฯ ดังกล่าว

ภายใต้ข้อกำหนดแนวทางที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกับแผนระดับที่ 1 คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล ทั้งการเพิ่มมูลค่าของเศรษฐกิจฐานชีวภาพทางทะเล การปรับปรุงฟื้นฟูและสร้างทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งระบบ การพัฒนาและเพิ่มสัดส่วนกิจกรรมทางทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แผนระดับ 2 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนระดับหน่วยงาน คือ ยุทธศาสตร์กรมประมง (พ.ศ.2560-2564) รวมไปถึงแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของประเทศไทย พ.ศ.2563 – 2565 และแนวทางของ FAO ในการขับเคลื่อนตามความสมัครใจเพื่อสร้างหลักประกันความยั่งยืนประมงขนาดเล็กในบริบทความมั่นคงทางอาหารและการขจัดความยากจน (VG-SSF) มาประกอบในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แผนงานและแนวทางในการพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านฯ โดยขณะนี้ คณะทำงานฯ ได้มีการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แผนงาน และแนวทางในการพัฒนาการทำประมงพื้นบ้าน เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้ข้อเสนอเชิงนโยบาย 2 ประการ คือ ​ ​

1. การกำหนดนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำ ฟื้นฟู ดูแล และรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลให้คงความอุดมสมบูรณ์ ทั้งในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งมีการกำหนดมาตรการในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การพัฒนาเครื่องมือประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงในการจับสัตว์ทะเลหายาก ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่เสื่อมโทรม ซึ่งมีมาตรการกำหนดแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมภายใต้หลักความสมดุลของระบบนิเวศ การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน ด้านการสร้างความเป็นธรรมในการบริหารจัดการ มาตรการส่งเสริมให้เกิดการติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการใช้ประโยชน์ทรัพยากรสัตว์น้ำเป็นไปตามหลักกฎหมายของประเทศและสอดคล้องกับพันธกรณี เสริมสร้างความตระหนักในสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบในการทำการประมงและดูแลรักษาระบบนิเวศ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประมงพื้นบ้านในระดับต่างๆ การกำหนดมาตรการแนวทางในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม

​2. การกำหนดนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมง ให้อยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านได้ ทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของชาวประมงและชุมชนตามภูมิสังคม ซึ่งมีการกำหนดแนวทางหรือมาตรการเพื่อการปกป้องและคุ้มครองสิทธิ การพัฒนาและส่งเสริมอาชีพของชาวประมงขนาดเล็ก ภายใต้การบริหารจัดการเชิงพื้นที่และฐานระบบนิเวศ การส่งเริมและสนับสนุนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวประมง/ชุมชนประมง การส่งเสริมและสนับสนุนบทบาทความเท่าเทียมกันในทุกมิติ รวมทั้งความมั่นคงทางชีวิตของกลุ่มเฉพาะ ด้านการพัฒนาศักยภาพชาวประมงและการจัดการด้านแรงงานภาคประมงพื้นบ้าน กำหนดมาตรการแรงงานภาคประมงพื้นบ้านเพื่อให้เกิดความคุ้มครองความมั่นคงทางสังคม การส่งเสริมสนับสนุนและสร้างโอกาสในการพัฒนาวิชาชีพและความเข้มแข็งของแรงงานไทยในภาคประมงพื้นบ้าน การพัฒนาสมรรถนะชาวประมงและแรงงานในครัวเรือนของประมงพื้นบ้าน เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ด้านห่วงโซ่มูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมง การส่งเสริมสนับสนุนบทบาทของประมงขนาดเล็กหลังทำการประมงและบทบาทในห่วงโซ่มูลค่า การส่งเสริมสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงเพื่อให้ได้มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาตนเองเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพภายใต้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้านความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การพัฒนาระบบการเผยแพร่ข่าวสารที่มีการกระจายอย่างทั่วถึงอย่างมีประสิทธิภาพ ระบบการสนับสนุนเตรียมความพร้อมเพื่อการรับมือกับภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงขนาดเล็กรวมทั้งกำหนดมาตรการและแนวทางการฟื้นฟูในการบรรเทาทุกข์ที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติ

​ซึ่งในขั้นตอนต่อไป กรมประมงจะนำข้อเสนอเชิงนโยบาย แผนงานและแนวทางในการพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านดังกล่าวนี้ เสนอคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และเมื่อคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว จะได้นำแนวทางดังกล่าวมาพัฒนาการทำประมงพื้นบ้านให้เกิดความยั่งยืนทั้ง 23 จังหวัดชายทะเล ผ่านการขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการประมงประจังหวัด ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยทำให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรประมงได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับวิถีประมงพื้นบ้านของไทยที่มีการพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตที่มั่นคงของพี่น้องชาวประมง…รองอธิบดีฯ กล่าว