“ฮักแพง แบ่งปัน” คนเมืองอุบลฯ จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคี “โคก หนอง นา พช.” ร่วมน้อมนำแนวพระราชดำริ สู่สังคมแห่งการเกื้อกูล

วันที่ 12 มิถุนายน 2564 ภายใต้การอำนวยการของ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมาย นายบุญสม สีลาไหม พัฒนาการอำเภอเมืองอุบลราชธานี นางอัจฉรา ศรีทานันท์ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ นายวิษณุพงษ์ กลิ่นแก้ว นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ และนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ลงพื้นที่สนับสนุนการดำเนินงานกิจกรรม เอามื้อสามัคคี” ณ แปลงนายประไพ มุขธรรม หมู่ที่ 10 ตำบลไร่น้อย อำเภอเมืองอุบลราชธานี และแปลงนางจินตนา พูลเพิ่ม บ้านพรานบุญ หมู่ที่ 13 ตำบลหนองขอน อำเภอเมืองอุบลราชธานี

จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการอนุมัติงบเงินกู้จากทางรัฐบาล ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” จำนวน 576,592,500 บาท โดยมีพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดฯ ทั้งสิ้น 3,960 แห่ง ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) : 68 แห่ง เเละพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) : 3,892 แห่ง เเละโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 791 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 620 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 171 แห่ง ในส่วนของอำเภอเมืองอุบลราชธานี มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” งบเงินกู้ COVID ในพื้นที่ทั้งสิ้น 47 แปลง แยกเป็น HLM 46 แปลง (พื้นที่ 1 ไร่ 13 แปลง, พื้นที่ 3 ไร่ 33 แปลง ) เเละ CLM 1 แปลง (พื้นที่ 15 ไร่ 1 แปลง) และมีการจ้างงานนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จำนวน 32 คน

จากการที่จังหวัดอุบลราชธานี นั้น ได้รับงบประมาณการสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ มากที่สุดในประเทศไทย ถึง 3,960 แปลง จึงต้องให้ความสำคัญในการดำเนินงานให้เสร็จสิ้นตามเป้าหมาย ไม่เว้นแม้จะเป็นวันหยุดราชการก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อให้แปลงที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับประโยชน์จากโครงการฯโดยเร็ว โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน ถือเป็นการช่วยสร้างทางรอดหรือแหล่งเรียนรู้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่คนในชุมชน โดยมีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานหลักและมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนคอยเป็นพี่เลี้ยงในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ส่งผลดีต่อคนในชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ และสร้างงาน สร้างรายได้ อย่างยั่งยืนต่อไป

โดยกิจกรรมเอามื้อสามัคคีทั้งสองแปลง ในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานีในครั้งนี้ ได้ดำเนินการตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ ประกอบด้วย การห่มฟางบำรุงดิน ปกป้องหน้าดิน การปลูกต้นไม้บริเวณริมบ่อและคลองไส้ไก่ โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ โด้ปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด ซึ่งเจ้าของแปลงทั้งสองแปลง คือนายประไพ มุขธรรม และนางจินตนา พูลเพิ่ม ต่างมีความพึงพอใจในการดำเนินกิจกรรมโครงการฯ อย่างมาก พร้อมขอบคุณรัฐบาล และกรมการพัฒนาชุมชน ที่นำโครงการฯ ที่ดีเช่นนี้ให้แก่พื้นที่ รวมถึงนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) ที่ได้ประสานงาน คอยช่วยเหลือ และดูแลกิจกรรมอีกด้วย

​โอกาสนี้ คณะเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน จากสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองอุบลราชธานี ยังได้ให้คำแนะนำในการขับเคลื่อนแปลง “ขอชื่นชมการดำเนินงานเอามื้อสามัคคีในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนถิ่น และการช่วยเหลือเกื้อกูล เหมือนดังภาษาท้องถิ่นที่ว่า “ฮักแพง แบ่งปัน” โดยในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ จะเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนาชุมชนให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนในชุมชนมีความรักสามัคคี เป็นสังคมแห่งความเกื้อกูล เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ซึ่งเป็นน้อมนำเอาแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสืบสาน รักษา ต่อยอด และสามารถประยุกต์ใช้ได้จริงในการพึ่งตนเองและสร้างทางรอดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน”

อุบลราชธานี เมืองดอกบัวงาม แม่น้ำสองสี : งานประชาสัมพันธ์ สพจ.อุบลราชธานี…ภาพข่าว/รายงาน