พช.ลำปาง เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา พช.”

วันที่ 11 มิถุนายน 2564 นางนงค์รัก พรมฟอง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รักษาราชการแทน พัฒนาการอำเภอเสริมงาม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและนักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (นพร.) ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ รูปแบบ “โคก หนอง นา พช.” ณ บ้านแม่กึ๊ด หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งงาม อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง โดยมีนายก้องภพ อินต๊ะจักร วิทยากรประจำศูนย์ฯ ได้รายงานแผนการพัฒนาศูนย์ฯ ดังนี้

1) ทำรั้วตาข่าย รอบบ่อน้ำ เพื่อเลี้ยงเป็ด โดยต้องการกำจัดจอกแหนในบ่อ และทำโรงเรือนเลี้ยงไก่พื้นเมือง

2) เตรียมสถานที่สำหรับเพาะพืชประเภทเถา และหัวใต้ดิน ตามแนวทางการปลูกพืช 5 ระดับ

3) เตรียมจัดซื้อกระบือ จำนวน 2 ตัว เพื่อช่วยระบบนิเวศ และมีปุ๋ยสำหรับการปรับปรุงบำรุงดิน

4) เตรียมความพร้อมในการที่ทำการปรับปรุงพื้นที่และขอรับการสนับสนุนกล้าแฝกเพิ่มเติม เนื่องจากพื้นที่เป็นดินทราย ถูกน้ำฝนชะล้าง ทำให้ดินขอบบ่อพังทลาย

5) เตรียมความพร้อมในการที่ทำสถานีเพาะกล้าไม้ โดยขอรับการสนับสนุนกล้าไม้จากสถานีเพาะกล้าไม้แม่ต๋ำ เพื่อเพิ่มปริมาณต้นไม้ในพื้นที่

นายก้องภพ อินต๊ะจักร วิทยากรประจำศูนย์ฯ เผยว่า ขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่สนับสนุน ในการดำเนินการตามแผนงานดังกล่าวศูนย์เรียนรู้ฯ โดยหวังว่าจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา พช.” ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่อำเภอเสริมงามและประชาชนทั่วไปเพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเองและชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืนต่อไป

นางนงค์รัก พรมฟอง นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ รักษาราชการแทน พัฒนาการอำเภอเสริมงาม เผยว่า การดำเนินงานครั้งนี้ได้น้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ชนบท ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแนวคิดทฤษฎีใหม่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสุข ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง โดยได้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา พช. ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ

พช.ลำปาง ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” โดยมีพื้นที่เป้าหมายในอำเภอ ทั้งสิ้น 279 แห่ง เเบ่งเป็นพื้นที่ระดับตำบล (CLM) 8 แห่ง และพื้นที่ระดับครัวเรือน (HLM) จำนวน 271 แห่ง และโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน จำนวน 103 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ 1 ไร่ 76 แห่ง และพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 27 แห่ง
ในส่วนของอำเภอเสริมงาม มีพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 2 แห่ง แยกเป็นพื้นที่ 3 ไร่ จำนวน 1 แปลง และพื้นที่ 1 ไร่ จำนวน 1 แปลง

ผลการดำเนินงาน แปลงพื้นที่ 3 ไร่ ได้ดำเนินการปรับปรุงแปลงพื้นที่ โดยใช้แบบมาตรฐานของกรมการพัฒนาชุมชน สำหรับดินร่วนปนทราย สัดส่วน 1: 3 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อย เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์เรียนรู้ จำนวน 15 คน มีนายก้องภพ อินต๊ะจักร เป็นประธานศูนย์เรียนรู้ฯ และเป็นวิทยากรประจำศูนย์ฯ และคัดเลือกครูประจำฐานเรียนรู้ เบื้องต้น 5 ฐาน ประกอบด้วย ฐานรักษ์แม่ธรณี ฐานคนหัวเห็ด (เพาะเห็ด) ฐานคนติดดิน ฐานคนรักษ์สุขภาพ และฐานคนรักษ์ป่า โดยนายก้องภพ อินต๊ะจักร ได้มุ่งมั่นในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา ให้เป็นศูนย์ฯ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้แก่ประชาชนที่สนใจ นอกจากนี้ ยังจะเป็นศูนย์ฯ เพาะเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า เพื่อแบ่งปัน แจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอเสริมงาม การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ฯ นายก้องภพ และกรรมการการศูนย์ฯ ร่วมกับตัวแทนครัวเรือนพัฒนา ได้ลงมือ ลงแรง และเสียสละทุนทรัพย์ของตนเอง เพื่อคาดหวังให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนให้มากที่สุด และขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่ให้โอกาส ได้รับการฝึกอบรม ได้เข้าร่วมโครงการฯ ในครั้งนี้ ปัจจุบัน ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้เปิดให้ประชาชน หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้แล้ว เช่น กศน.อำเภอเสริมงาม ได้ร่วมเรียนรู้ฐานรักษ์แม่ธรณี ในกิจกรรม ห่มดิน การทำปุ๋ยชีวภาพ การกำจัดแมลงศัตรูพืช สำหรับแปลงพื้นที่ 1 ไร่ อยู่ระหว่างการออกแบบผังบริเวณ และกำหนดราคากลาง โดยได้รับการสนับสนุนทีมงานช่างจากเทศบาลตำบลทุ่งงามและเทศบาลตำบลเสริมงาม คาดว่าจะดำเนินการขุดปรับปรุงแปลงพื้นที่ในสิ้นเดือนมิถุนายน 2564

นายชาตรี ธินนท์ พัฒนาการจังหวัดลำปาง เผยว่า ในการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” ด้วยการน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงาน จะช่วยให้พี่น้องประชาชนสามารถฟื้นตัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็ง และชุมชนพึ่งตนเองได้ ให้มีความมั่นคงในการผลิตอาหาร สู่การสร้างเศรษฐกิจฐานที่มั่งคงและยั่งยืนต่อไป