รมช.กนกวรรณ หารือ อพวช. เตรียมจัด “คาราวานวิทยาศาสตร์” นำสื่อ-กิจกรรม-เกมวิทยาศาสตร์ เคลื่อนที่ไปยังศูนย์วิทย์ฯ 20 แห่งทั่วประเทศ ทันทีหลังโควิดคลี่คลาย เพื่อสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตในทุกช่วงวัย

เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 เวลาประมาณ 10.00 น. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศธ. เดินทางไปยังองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพื่อหารือความร่วมมือการจัดคาราวานวิทยาศาสตร์ ปี 2564 ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัย โดยมี ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการ อพวช. คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ มีนางตติยา ใจบุญ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา กศน. นางอภิญญา ซอหะซัน รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่การศึกษา กศน. และนายดิษพล มาตุอำพันวงศ์ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเผยแพร่ทางการศึกษา กศน. เข้าร่วมด้วย

“อพวช.นับเป็นเครือข่ายการทำงานที่ดี หรือ Good partnership ที่ร่วมสนับสนุนการจัดการศึกษาของ กศน.มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลักสูตรอบรมและนิทรรศการด้านวิทยาศาสตร์เคลื่อนที่ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งวิทยาศาสตร์ทั่วไป เทคโนโลยีและนวัตกรรม สุขภาพ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนดาราศาสตร์และอากาศยาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก่อเกิดประโยชน์ต่อการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้แก่เด็ก เยาวชน ครูในทุกพื้นที่ ให้ได้สัมผัสกับประสบการณ์ดี ๆ จากกิจกรรมของ อพวช. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกิจกรรมวิทยาศาสตร์ให้เข้าถึงทุกชุมชนหมุนเวียนไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพียงแต่ขณะนี้ต้องรอเวลาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น ก็จะเริ่มดำเนินการตามแผนที่วางไว้ทันที” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

ในโอกาสนี้ รมช.ศธ.และคณะ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ โซนสวนปริศนา สนุกกับวิทยาศาสตร์ สนุกคิดวิทย์รอบตัว Innovation Studio (นวัตกรรมและวิทยาการคำนวณ) ตลอดจนคลังคาราวานวิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์พระราม9 ซึ่ง อพวช.ดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 “โครงการพิพิธภัณฑ์พระราม9” เนื่องในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อแสดงให้เห็นหลักการคิด วิธีการทรงงานและกระบวนการค้นหาคำตอบ ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงนำไปแก้ปัญหาหรือพระราชทานแก่พสกนิกรในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนเป็นแบบอย่างแก่ผู้สนใจชาวต่างประเทศ โดยจัดแสดงภายใต้หัวข้อหลัก “พระมหากษัตริย์นักพัฒนา การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงหลัก 6 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 โลกและการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต, ส่วนที่ 2 ระบบนิเวศและความหลากหลาย, ส่วนที่ 3 การจัดการทรัพยากรน้ำ, ส่วนที่ 4 การจัดการทรัพยากรดิน, ส่วนที่ 5 หอเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และส่วนที่ 6 การจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก