พช.สุพรรณบุรี ส่งเสริมการปลูกผักเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในกิจกรรม “ป่าสะแกปลูกผักแก้จน” ณ ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช

วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564 นายสุภาพ สุขแก้ว พัฒนาการจังหวัดสุพรรณบุรี ให้เกียรติเป็นประธานในกิจกรรมมอบเมล็ดพันธ์ผักสวนครัวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ในกิจกรรม “ป่าสะแกปลูกผักแก้จน” ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าสะแก ม.3 ต.ป่าสะแก อ.เดิมบางนางบวช จ.สุพรรณบุรี โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลป่าสะแก นำโดยปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชนกลุ่มรักษ์ป่าสะแก ประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเรียง ทั้งนี้นางปาริชาติ ทองสีดำ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดฯ/อำเภอ นักพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (นพร.) และบุคลากรในสังกัดสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย

นายสุภาพ สุขแก้ว กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการจัดเวทีการวิเคราะห์ข้อมูลและการจัดทำแผนพัฒนาระดับตำบล โดยการนำข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน มาวิเคราะห์โดยเครื่องมือ CIA นำมาวิเคราะห์หาปัญหาต่างๆของระดับหมู่บ้าน ได้แก่ การบริหารจัดการชุมชน ความเสี่ยงชุมชน ความยากจน ทุนชุมชนและความเสี่ยงชุมชน เป็นต้น ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะภาคท้องถิ่นมาช่วยกันบูรณาการแก้ไขปัญหานำมาสู่แผนพัฒนาตำบลที่จะสู่การแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น ซึ่งตำบลป่าสะแกได้พิจารณาเลือกโครงการ “ป่าสะแกปลูกผักแก้จน” ที่เป็นการนำภารกิจสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชนมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันอันเนื่องมาจากปัญหาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้เกิดความเดือดร้อน ประชาชนเกิดความหวาดหวั่น ดังนั้นจึงต้องน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รอบ 2 นำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้คนในชุมชนมีอาหารปลอดภัยไว้รับประทานเอง ลดการพบปะผู้คนในสถานที่แออัด เช่นในตลาดสด ใช้พื้นที่ว่างในบ้านให้เป็นประโยชน์ ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผ่านการแลกเปลี่ยนผักสวนครัว เกื้อหนุนให้ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” นายสุภาพ กล่าวปิดท้าย

กรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด/อำเภอ ดำเนินการโครงการสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ตระหนักถึงความสำคัญเห็นประโยชน์ของข้อมูล ยอมรับและนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต มีเป้าประสงค์ของโครงการ คือ การมีรูปแบบการจัดการสารสนเทศเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและบริหารจัดการชุมชน ตลอดจนการเกิดเครือข่ายการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศชุมชน

จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมดำเนินการคัดเลือกตำบลสารสนเทศเป้าหมาย ระดับจังหวัด 1 ตำบล โดยพิจารณาจากจากความพร้อมและความร่วมมือของคนในตำบลเป็นหลัก คือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำมีความสนใจ ใฝ่รู้ และให้ความสำคัญกับการจัดการข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

โดยพิจารณาเลือกจากเวทีประชุม ตำบลป่าสะแก ได้รับเลือกให้เป็นสารสนเทศตำบลต้นแบบฯของจังหวัดสุพรรณบุรี ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยมีคณะทำงานในระดับจังหวัด/อำเภอ และกับคณะทำงานฯ ของตำบล ร่วมบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาสารสนเทศตำบลต้นแบบฯ ตามแนวทางของกรมการพัฒนาชุมชน 5 กระบวนการ ดังนี้

1. สร้างความเข้าใจร่วมกัน

2. กำหนดความต้องการร่วมกัน

3. ร่วมกันจัดทำสารสนเทศ

4. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน

5. เผยแพร่และบำรุงรักษา

การดำเนินโครงการสารสนเทศตำบลต้นแบบเพื่อการพัฒนาชุมชน ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ดำเนินการผ่านความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนตำบลป่าสะแก ผู้นำชุมชน กลุ่มรักษ์ป่าสะแก และประชาชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการข้อมูลและนำมาใช้ประโยชน์แก่คนในชุมชนอย่างสูงสุด

โดยเมล็ดพันธ์ผักที่ใช้ในกิจกรรมประกอบไปด้วย ผักบุ้ง บวบเหลี่ยม ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า มะเขือ รวมจำนวนกว่า 300 ซอง มีครัวเรือนที่ได้รับกว่า 50 ครัวเรือน จากการดำเนินการในครั้งนี้คาดการผลลัพธ์ที่ได้คือประชาชนในพื้นที่กลุ่มเป้าหมายสามารถประหยัดเงินจากการซื้อผักสวนครัวครัวเรือนละ 50 บาทเป็นอย่างน้อยต่อวัน หรือคิดเป็น 1,500 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในชุมชนได้มากกว่า 75,000 บาทต่อเดือน ส่วนผักที่เหลือจากการรับประทานสามารถแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเพิ่มเพื่อสร้างรายได้ทั้งระดับครัวเรือนและกลุ่มอาชีพได้อีกด้วย

ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตำบลป่าสะแก ตำบลป่าสะแก พื้นที่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี

ภาพ/ข่าว กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี
วิถีเมืองเหน่อ..สุพรรณบุรี บำรุงสุข Change for Good