ชป. จับมือ กปน. รับมือน้ำทะเลหนุนสูงปลายมิถุนายนนี้

กรมชลประทาน จับมือการประปานครหลวง(กปน.) กำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำและควบคุมความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา รับมือน้ำทะเลหนุนสูงช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ลดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ตามนโยบายของรัฐบาล และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง อย่างใกล้ชิด เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย อาจได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลต่อคุณภาพน้ำที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ซึ่งจากการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ (กองทัพเรือ) ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2564 น้ำทะเลจะหนุนสูง ประมาณ 1.34 เมตร(รทก.) ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคม 2564 จะมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเกณฑ์น้อย จึงได้หารือการบริหารจัดการน้ำและควบคุมความเค็มในแม่น้ำร่วมกับคณะผู้บริหารการประปานครหลวง เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการป้องกันน้ำเค็มไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตประปา

ปัจจุบัน (10 มิ.ย. 64) สถานการณ์น้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,035 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32 % ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,339 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งกรมชลประทาน ได้วางแผนจะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนพระรามหก และเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาถึงตอนบนบริเวณจุดสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี

นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในอัตราที่เหมาะสม พร้อมประสานผู้เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันควบคุมการลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงสู่พื้นที่ตอนล่างให้ได้มากที่สุด ส่วนของการประปานครหลวง จะดำเนินการปฏิบัติการ Water Hammer Operation เป็นมาตรการที่ช่วยเสริมให้ความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแลลดลง รวมทั้งปรับลดอัตราการสูบน้ำในช่วงจังหวะน้ำลง และงดสูบในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง โดยไม่ให้กระทบกับผู้ใช้น้ำ พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องประสานกับการประปานครหลวงอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตามเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังค่าความเค็มไม่ให้เกิน 0.25 กรัม/ลิตร ลดผลกระทบต่อน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนให้ได้มากที่สุด