ชป.ร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชาวริมคลอง

วันที่ 10 มิ.ย. 64 ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะคณะอนุกรรมการบริหารพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ร่วมประชุมคณะอนุกรรมการบริหารพัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ ครั้งที่ 3/2564 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ผ่านระบบ video conference

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า งานพัฒนาและฟื้นฟูคลองแสนแสบ เป็นหนึ่งในงานนโยบายที่สำคัญของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ที่ได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน ซึ่งในส่วนของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการตามแผนการบริหาร พัฒนา อนุรักษ์ และฟื้นฟูคลองแสนแสบ แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ประกอบด้วย การปรับปรุงสิ่งกัดกวางทางน้ำในคลองแสนแสบ

โดยนำเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าทำการกำจัดวัชพืชในคลองแสนแสบ บริเวณตำบลศาลาแดง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางกว่า 5.8 กิโลเมตร ได้ปริมาณวัชพืชกว่า 26,000 ตัน และดำเนินการกำจัดวัชพืชในคลองบางขนาก เริ่มตั้งแต่ตำบลบางน้ำเปรี้ยว ผ่าน ตำบลโพรงอากาศ สิ้นสุดที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทางกว่า 19.2 กิโลเมตร ได้ปริมาณวัชพืชกว่า 14,700 ตัน ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ , การก่อสร้างสถานีและประตูระบายน้ำบางขนาก พร้อมอาคารประกอบ ในพื้นที่ตำบลบางขนาก อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 45% ของแผนงาน และจะเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผนที่วางไว้ หากแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำในช่วงฤดูแล้ง และควบคุมการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ช่วยลดผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชนในพื้นที่ได้ , การปรับปรุงคลองบางขนาก แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ งานปรับปรุงคลองแสนแสบ รวมระยะทางกว่า 5.8 กิโลเมตร และ งานปรับปรุงคลองบางขนาก รวมระยะทางกว่า 19.2 กิโลเมตร มีแผนการดำเนินงาน 3 ปี (ปี 2566-2568) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมสำรวจและออกแบบ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2564 นี้ ก่อนนำเสนอต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป

สำหรับการเตรียมพร้อมรองรับน้ำในฤดูฝนในพื้นที่คลองแสนแสบ กรมชลประทาน มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลาก ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างฝั่งตะวันออก โดยใช้แนวคันกั้นน้ำพระราชดำริ เป็นเส้นแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างกรุงเทพมหานครและกรมชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานจะรับผิดชอบพื้นที่ภายนอกคันกั้นน้ำ ด้วยการใช้คลองแนวขวาง และคลองแนวดิ่งในการบริหารจัดการน้ำหลากไม่ให้เข้าเขตกรุงเทพฯ ได้แก่ คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต คลองประเวศน์บุรีรมย์ รวมทั้งใช้ประตูระบายน้ำ(ปตร.) และสถานีสูบน้ำระบายน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลัก และทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีสถานีสูบน้ำทั้งหมด 12 สถานี อัตราการสูบประมาณวันละ 41.55 ล้าน ลบ.ม. เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล หากในกรณีที่มีความจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำร่วมกันกับกรุงเทพฯ กรมชลประทานจะใช้สถานีสูบน้ำบริเวณรอยต่อเขตกรุงเทพฯ สูบน้ำออกจากพื้นที่กรุงเทพฯ ลงสู่คลองชลประทาน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำ และอ่าวไทยต่อไป ซึ่งสถานีสูบน้ำและอาคารบังคับน้ำตามแนวรอยต่อเหล่านี้ จะมีเกณฑ์ระดับน้ำในการควบคุมการปิด-เปิด ที่เกิดจากข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมชลประทานและกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยินดีและพร้อมที่จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ถึงผลการดำเนินงานให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลองแสนแสบให้ดียิ่งขึ้น