รมว.พม.เปิด “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” เพื่อให้คนไทยเข้าถึงข้อมูลที่อยู่อาศัยได้ง่าย

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิด “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมและพัฒนาระบบข้อมูลที่อยู่อาศัยในภาพรวมของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยมี นายปรเมธี  วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดร.ธัชพล  กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ บริเวณชั้น 1 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า  จากสถานการณ์ที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน คนไทยยังประสบปัญหาการไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ รวมทั้งความมั่นคงในที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จึงได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและ
มีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579” โดยมีเป้าหมายคือ ประชาชนที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย 5.87 ล้านครัวเรือน (ข้อมูลจากการสำรวจข้อมูลภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2558) ทั้งนี้ “ข้อมูลที่อยู่อาศัย” มีส่วนสำคัญในการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศ แต่ปัจจุบันมีอยู่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จำเป็นจะต้องมีหน่วยงานหลักเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล จึงถูกกำหนดให้อยู่ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและสนับสนุนให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน กลยุทธ์ที่ 3 เสริมสร้างและพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศด้านที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 เห็นชอบให้การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการรวบรวมและจัดหาข้อมูลเพื่อจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง เป็นต้น

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดตั้ง “ศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ” เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลที่อยู่อาศัยที่กระจัดกระจายตามหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นฐานเดียวกัน รวมทั้งพัฒนาระบบข้อมูลที่อยู่อาศัยในภาพรวมของประเทศอย่างเป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงโครงข่ายข้อมูลสารสนเทศทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ที่อยู่อาศัย เพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศ โดยจะส่งผลดีต่อประชาชนให้เข้าถึงข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยได้สะดวกและรวดเร็ว ภายใต้วิสัยทัศน์ “เป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านที่อยู่อาศัย มุ่งสู่การพัฒนาและการจัดการสารสนเทศ เพื่อความมั่นคงในการมีที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเครือข่าย”

สำหรับแผนการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 บูรณาการข้อมูลและเชื่อมโยงระบบ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมเปิดให้บริการในเดือนธันวาคม 2561 โดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นศูนย์กลางในการวางระบบและเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้านที่อยู่อาศัย ส่วนการเคหะแห่งชาติเป็นผู้รวบรวมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำเว็บไซต์ http://www.nhic.m-society.go.th รวบรวมข้อมูลที่อยู่อาศัยจากหน่วยงานที่บูรณาการร่วมกันไว้ทั้งหมด 11 หมวด ประกอบด้วย นโยบายและยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย ข้อมูลประชากรและ ครัวเรือน สถานการณ์ที่อยู่อาศัย ความต้องการที่อยู่อาศัย ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่อยู่อาศัย งานวิจัย ข้อมูลด้านผังเมืองและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลราคาวัสดุและสิ่งก่อสร้าง การเงินที่อยู่อาศัย ข้อมูลสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ขนส่ง และบริการข้อมูล/ข่าวสารเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ส่วนการดำเนินงานระยะที่ 2 พัฒนาระบบและขยายโครงข่าย โดยประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และพัฒนาระบบให้เป็นสากลในปี 2562 และระยะที่ 3 การพัฒนาเต็มรูปแบบ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบสามารถวิเคราะห์และเก็บข้อมูลรูปแบบ
Big Data ภายในปี 2563

พลเอก อนันตพร กล่าวต่อว่า การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยแห่งชาติจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัย สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ การขอสินเชื่อและอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หน่วยงานระดับจังหวัดและท้องถิ่นสามารถวิเคราะห์ข้อมูล กำหนดทิศทางจัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและบูรณาการขับเคลื่อนให้เชื่อมโยงกัน หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถวางแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยได้ตาม demand และ Supply ที่มีอยู่จริง ซึ่งจะทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ได้มาตรฐาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ได้เร็วยิ่งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล

 

——————————————————-