สถาบันการบินพลเรือน จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบปีที่ 60

สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) รัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม จัดงานวันคล้ายวันสถาปนา สบพ. ครบรอบปีที่ 60 โดยมี พลอากาศเอก เผด็จ วงษ์ปิ่นแก้ว ประธานกรรมการสถาบันการบินพลเรือน นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน นำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และพนักงาน ร่วมสักการะพระพุทธะจัตตาฬีสะมงคล พระพุทธรูปประจำสถาบันการบินพลเรือนเพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีบวงสรวงและสักการะพระภูมิเจ้าที่ พิธีทางศาสนา ถวายภัตตาหารเช้าและจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระภิกษุสงฆ์

พร้อมกันนี้ได้ร่วมให้การต้อนรับ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตผู้บริหารสถาบันการบินพลเรือน คณะผู้บริหาร และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มาร่วมแสดงความยินดี ภายในภาคเช้ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ยังร่วมปลูกต้นไม้มงคล ร่วมกับคณะผู้บริหารของ สบพ. เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ณ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สบพ. กรุงเทพฯ

เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปี สถาบันการบินพลเรือน ในฐานะสถาบันเฉพาะทางด้านการบินแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) นั้น มุ่งเน้นผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบิน จนได้ยกระดับมาตรฐานของการฝึกอบรมไปสู่สมาชิกระดับ Regional Centre of Excellence (RTCE) โครงการ ICAO TRAINAIR PLUS จากการรับการรับรองสาขาความเชี่ยวชาญ ถึง 2 ด้าน ได้แก่ Air Navigation Services และ Flight Safety and Safety Management อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา อีกทั้ง สถาบันการบินพลเรือน เห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเรียนการสอน การฝึกอบรม รวมถึงห้องปฏิบัติการเรียนการสอน อย่างต่อเนื่อง จึงได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารเรียนศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน อาคารฝ่ายอำนวยการ และสิ่งก่อสร้างประกอบพร้อมครุภัณฑ์ประกอบตามมติคณะรัฐมนตรี จนเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เตรียมพร้อมรองรับการฟื้นตัวและการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคในอนาคต ต่อไป

สำหรับในภาคบ่ายของวันดังกล่าว สถาบันการบินพลเรือน ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) กับ 2 หน่วยงาน ด้านการสนับสนุนและต่อยอดความร่วมมือด้านวิชาการร่วมกัน จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย

1. การลงนาม MOU ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน และโรงเรียนชลประทานวิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนในระบบประเภทสามัญศึกษา ซึ่งทางโรงเรียนมีโครงการห้องเรียนพิเศษอุตสาหกรรมการบิน ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเลือกลงทะเบียนเรียนในวิชาเลือกที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน และนางสาวนิตยา เทพอรุณรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชลประทานวิทยา เป็นผู้ร่วมลงนาม ทั้งนี้ สถาบันการบินพลเรือน เห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน หน่วยงานต่างๆ ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนสำคัญ ให้เป็นไปตามนโยบายการแสดงความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยตรง จึงร่วมจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อสนับสนุนโครงการดังกล่าว ด้วยการต่อยอดพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องทางด้านการบิน อีกทั้งเป็น การเปิดโอกาสให้แก่นักเรียนที่สนใจสามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรด้านการบินในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบโควตาพิเศษของสถาบันการบินพลเรือน

2. การลงนาม MOU ระหว่าง สถาบันการบินพลเรือน และบริษัท โดรน อาคาเดมิค (ไทยแลนด์) เป็นสถาบันอบรมโดรนอันดับหนึ่งของไทยที่มีชื่อเสียง โดยมี นางสาวภัคณัฏฐ์ มากช่วย รองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร รักษาการแทนผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน และนายจรรยาวรรธน์ ชาติอนุลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โดรนอาคาเดมิค (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ร่วมลงนาม ทั้งนี้ สถาบันการบินพลเรือน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงวิชาการ มุ่งเน้นผลิตและพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านอากาศยานไร้คนขับ หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ด้วยการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ไปจนถึงประสบการณ์ ระหว่างสองหน่วยงาน เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการด้านการผลิต และพัฒนาบุคลากรด้านอากาศยานไร้คนขับอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจทั้ง 2 ฉบับข้างต้น สถาบันการบินพลเรือน ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน กับสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมด้านการบิน พร้อมยกระดับขีดความสามารถ เพื่อรองรับการปฏิบัติภารกิจการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มีคุณภาพและมาตรฐานสากลที่ดียิ่งขึ้น สถาบันการบินพลเรือน ได้เตรียมความพร้อมในทุกมิติของการพัฒนาสำหรับการก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญเพื่อรองรับการฟื้นตัวและการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบิน ของประเทศและภูมิภาคในอนาคตอันใกล้นี้ ต่อไป