ชป.แจงกรณีชาวนครฯ คาใจ ไม่เปิดปตร.คลองท่าดีระบายน้ำช่วงน้ำหลาก

กรมชลประทาน ชี้แจง กรณีชาวนครศรีฯ คาใจ! น้ำท่วมเมืองแต่ประตูระบายน้ำในคลองท่าดีถูกปิดตาย อีกทั้ง สภาพคลองชลประทานไม่มีการระบายน้ำและเต็มไปด้วยวัชพืช ไม่ได้ใช้ในการระบายน้ำอ้อมเมืองทางฝั่งตะวันตกออกสู่ทุ่งแก้มลิงในตำบลปากพูน นาทราย และนาเคียน ลงสู่คลองท่าแพ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สามารถลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าสู่ตัวเมืองได้ นั้น

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงในกรณีที่เกิดขึ้นว่า ประตูระบายน้ำดังกล่าว  เป็นท่อระบายน้ำกลางคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายของฝายคลองท่าดี ซึ่งคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายนี้มีความยาวประมาณ 14.55 กิโลเมตร ลักษณะของคลองเป็นคลองส่งน้ำ บริเวณปากคลองจะกว้าง แต่ปลายคลองจะแคบ และมีอาคารอัดน้ำ   กลางคลองเป็นช่วงๆ เพื่อยกน้ำให้สูงถึงระดับปากท่อส่งน้ำเข้าไปยังพื้นที่การเกษตร โดยต้นคลองมีศักยภาพรับน้ำได้ประมาณ 9.325 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในขณะที่ปลายคลองรับน้ำได้เพียง 1.714 ลูกบาศก์เมตร/วินาที

“บริเวณต้นคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย จะรับน้ำจากฝายคลองท่าดี ที่ตำบลกำแพงเซา อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ส่วนปลายคลองจะอยู่ที่ตำบลนาทราย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ใกล้กับสวนสมเด็จพระศรี-     นครินทรา(ทุ่งท่าลาด) เนื่องจากคลองเส้นนี้ก่อสร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้เป็นคลองส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ใช่คลองระบายน้ำ การเปิดน้ำเข้าไปในคลองไม่สามารถช่วยระบายน้ำได้มาก ประกอบกับมีอาคารอัดน้ำอยู่กลางคลองเป็นช่วงๆ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ เมื่อเปิดน้ำเข้าไปในปริมาณมากก็จะทำให้    น้ำล้นข้ามคันคลอง ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อคลองชลประทาน อาคารชลประทาน และพื้นที่รอบๆได้    สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเมืองนครศรีฯ ประมาณ 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที นั้น ถึงแม้ว่าจะเปิดระบายน้ำเข้ามาในคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้ายที่ว่านี้ แต่พอน้ำไปถึงบริเวณปลายคลอง น้ำจะไหลออกไปได้เพียง 1.714 ลูกบาศก์เมตร/ต่อวินาที หรือคิดเป็นร้อยละ 0.32 ของปริมาณน้ำหลาก เท่านั้น จึงไม่ได้ช่วยในเรื่องของการระบายน้ำหลากแต่อย่างใด

ในส่วนของผักตบชวาในคลองสายใหญ่ฝั่งซ้าย นั้น  เจ้าหน้าที่ชลประทาน ได้ดำเนินการกำจัดอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากเป็นฤดูน้ำหลาก ทำให้มีผักตบชวาไหลลงสู่คลองตลอดเวลา ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่สลับสับเปลี่ยนกัน เข้าไปดำเนินการเก็บกำจัดผักตบชวาที่อยู่ในคลองตลอดเวลา เพื่อให้น้ำไหลลงสู่ปลายคลองได้สะดวกยิ่งขึ้น”   รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวชี้แจง

 สำหรับการแก้ไขและบรรเทาปัญหาอุทกภัย ในพื้นที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช นั้น ในระยะเร่งด่วน      กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 15 เครื่อง สูบน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำและเครื่องผลักดันน้ำอีก      18 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำในคลองสายหลักออกจากตัวเมืองให้ไหลลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน(18 ธ.ค. 61) ระดับน้ำในคลองสายหลักต่างๆ ได้ลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว รวมทั้งบริเวณซอยต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่อยู่ระหว่างถนนพัฒนาการคูขวางและถนนราชดำเนิน ลดลงอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากไม่มีฝนตกต้นน้ำและบริเวณพื้นที่เทศบาลนครนครศรีธรรมราช สถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติเย็นวันนี้(18 ธ.ค. 61)

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว กรมชลประทานได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปีงบประมาณ 2561 – 2563 เพื่อดำเนินการ  ขุดคลองผันน้ำอ้อมตัวเมืองนครศรีธรรมราช ลักษณะโครงการฯ ประกอบด้วย การขุดคลองระบายน้ำ จำนวน 3 สาย ความยาวประมาณ 18.64 กิโลเมตร การขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองวังวัว ความยาวประมาณ 5.90 กิโลเมตร การขุดเพิ่มประสิทธิภาพคลองท่าเรือ-หัวตรุด ความยาวประมาณ 11.90 กิโลเมตร พร้อมกับก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำอีก 7 แห่ง หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำจากต้นน้ำเขาหลวงที่จะไหลเข้าท่วมเมืองนครศรีธรรมราชได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

*********************************************

 

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ

กรมชลประทาน