กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมการประชุม UN Responsible Business and Human Rights Forum, Asia and the Pacific ผ่านช่องทาง UN Webinar ซึ่งจัดขึ้นโดย คณะทำงานว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ มีกำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 1 – 4 มิถุนายน 2564 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จากภาคส่วนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก จำนวนกว่า 1,000 คน UN Responsible Business and Human Rights Forum, Asia and the Pacific
เป็นการประชุมว่าด้วยเรื่องของการต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์และการใช้แรงงานเด็กในเอเชียและแปซิฟิก การประชุมครั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเกียรติเป็นตัวแทนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจากประเทศไทย โดย พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนฯ ในการอภิปราย เรื่อง บทบาทของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการดำเนินงานเกี่ยวกับคดีละเมิดทางเพศเด็กโดยใช้สื่อออนไลน์ ประเด็นด้าน online grooming โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการพัฒนากฎหมายในประเทศไทยเพื่อคุ้มครองเด็กจากการดำเนินงานในหัวข้อดังกล่าว
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 10.00 – 11.30 น. ตามเวลาประเทศไทย โดยก่อนเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก หรือ ECPAT International ร่วมกับคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, International Labour Organization (ILO), United Nations Development Programme (UNDP), International Organization for Migration (IOM), United Nations International Children’s Emergency Fund (UNICEF) และองค์กรชั้นนำอื่น ๆ ได้จัดการอภิปราย ในหัวข้อ “Stepping up the fight against the worst forms of child labour in Asia- Pacific in the digital area” โดยมีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เข้าร่วมการอภิปรายในครั้งนี้ ได้แก่
(1) Jennaline Serrano ผู้แทนจาก ECPAT Philippines
(2) Rebecca Nhep ผู้แทนจาก Better Care Network – Australia
(3) Damien Brosnan ผู้แทนจาก The Code
(4) Bharti Pflug ผู้แทนจาก ILO
(5) ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ฯ ผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
โดย ร้อยตำรวจเอก เขมชาติ ฯ ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการบูรณาการแก้ไขปัญหาอันเป็นบทบาทหนึ่งของกรมสอบสวนคดีพิเศษในเวทีอาชญากรรมระหว่างประเทศ
************************************************
ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2564