วันที่ 29 พฤษภาคม 2564 : นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้เร่งภารกิจขุดลอก จัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชเพื่อบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ลดอุทกภัย เพื่อช่วยเหลือประชาชน ตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยปัจจุบันได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ขับเคลื่อนภารกิจอย่างต่อเนื่อง
กรมเจ้าท่า : สำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ : สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 2 ได้เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจุดที่ 1 ตำบลพยุหะ ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เปิดหน่วยปฏิบัติงานฯ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 มีนายสุธี สิทธิการ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยฯ ใช้เรือเจ้าท่า ข.33 เรือเจ้าท่า 233 เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่น้ำกัดเซาะบ้านเรือนริมแม่น้ำได้รับความเสียหาย จึงได้แก้ไขโดยเพิ่มความกว้างที่ก้นร่องน้ำตามแผนการขุดลอก 40 เมตร ยาว 1,550 เมตร ระดับที่ก้นร่องน้ำ 6 เมตร (MSL) ปริมาณวัสดุขุดลอก 250,058 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันดำเนินการได้ขุดลอกได้ 207,213 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 82.86 %
จุดที่ 2 บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลธรรมมูล ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท มีนายกฤษณะ เกตุแก้ว ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยฯ เร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวา บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่มีปริมาณมากถึง 35,000 ตันอย่างเร่งด่วน ด้วยผักตบชวาดังกล่าวได้สะสมในพื้นที่อำเภอเมืองชัยนาท ก่อนจะไหลตามกระแสน้ำมาสะสมตัวหน้าเขื่อนเจ้าพระยา(เขื่อนชัยนาท) ซึ่งกรมเจ้าท่าได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ใช้เรือเจ้าท่า ผ.4,ผ.401,ผ.402,ผ.403 เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน มีประสิทธิภาพในการเก็บปริมาณ 300 ตัน/วัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2564 ปัจจุบันดำเนินการจัดเก็บได้ปริมาณ 26,057 ตัน คิดเป็น 74.45 % รวมที่ดำเนินการเก็บได้แล้วทั้งหมด ปริมาณ 67,611 ตัน
อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามภารกิจการขุดลอกและบำรุงรักษาทางน้ำ เป็น 1 ในหลาย ๆ ภารกิจของกรมเจ้าท่า สำหรับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นแม่น้ำสายหลักสำคัญของประเทศสามารถระบายน้ำที่ไหลหลากในช่วงฤดูฝนลงสู่อ่าวไทย ทำให้การขุดลอก จัดเก็บผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อแก้ไขความตื้นเขินของแม่น้ำ บรรเทาอุทกภัย เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การสัญจรทางน้ำ ในเวลาเดียวกันได้เพิ่มพื้นที่รับน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และยังเกิดผลพลอยได้จากการนำวัสดุที่ได้จากการขุดลอกนำไปซ่อมแซมตลิ่งที่ถูกน้ำกัดเซาะถนนและบ้านเรือนจนพังเสียหาย และภายหลังภารกิจขุดลอก กรมเจ้าท่าได้ร่วมรณรงค์กับหน่วยงานในพื้นที่และประชาชน ปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นเพื่อรักษาระบบนิเวศแม่น้ำเป็นการฟื้นฟูสภาพลำน้ำให้กลับมาสามารถอุปโภคบริโภคได้อย่างยั่งยืน
” กรมเจ้าท่า เพื่อประชาชน”
—————————————————
29 พฤษภาคม 2564
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม
โทรศัพท์ 02-233-1311-3 ต่อ 285
E-Mail : Pr@md.go.th