กรมการแพทย์เปิดมิติใหม่ด้านเทคโนโลยีการผลิตกายอุปกรณ์เทียม ชนิดซิลิโคน

สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการการแพทย์ เปิดมิติใหม่สู่การบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านเทคโนโลยีการผลิตกายอุปกรณ์เทียมชนิดซิลิโคน เพื่อคนพิการและผู้ที่สูญเสียอวัยวะ

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวความคิดเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านคนพิการทั้งในประเทศและนานาชาติ ได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เทคโนโลยีการออกแบบและผลิตกายอุปกรณ์ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กรมการแพทย์ โดยสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาความทุกข์ทรมานใจของคนพิการที่สูญเสียอวัยวะ จึงมีเป้าหมายในการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยการผลิตกายอุปกรณ์เทียมในมิติด้านความเสมือนจริงเพิ่มมากขึ้น นำเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ผ่านการออกแบบและผลิตขึ้นแบบเฉพาะรายด้วยวัสดุชนิดซิลิโคน ได้แก่ นิ้วมือ  นิ้วเท้าเทียม มือเทียม              และเท้าเสริมส่วนหน้า ซึ่งสามารถทดแทนอวัยวะส่วนที่ขาดหาย ชดเชยหน้าที่การทำงานและคืนรูปร่างลักษณะ          ที่สวยงาม ซึ่งมีความสำคัญทางด้านจิตใจและศักยภาพในการกลับคืนสู่สังคมของผู้ป่วยและคนพิการที่สูญเสียนิ้วมือ/มือ/นิ้วเท้า/เท้า หรือมีความพิการแต่กำเนิด โดยกลุ่มผู้มารับบริการคือผู้ที่สูญเสียนิ้ว หรือ มือขาดบางส่วน มือขาด เท้าขาด จากสาเหตุความพิการตั้งแต่กำเนิดหรือผู้ที่สูญเสียอวัยวะจากอุบัติเหตุประเภทต่าง ๆ และกลุ่มผู้ที่ต้องถูกตัดอวัยวะจากโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ

 

 

นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า รูปแบบการให้บริการด้านกายอุปกรณ์เทียม ชนิดซิลิโคน (Silicone Lab) เปิดให้บริการครั้งแรก          ในปี 2555 โดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูฯ ประกอบด้วยแพทย์ นักกายอุปกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้บริการตรวจประเมินและออกแบบกายอุปกรณ์ให้มีความกระชับพอดี ด้วยระบบสุญญากาศไม่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยใดๆ     ในขณะใช้งาน เหมาะสมสำหรับคนพิการแต่ละราย มีการใช้วัสดุซิลิโคนที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์ในขั้นตอน      การผลิต ตรวจสอบและประเมินก่อนนำไปใช้งานจริง นอกจากนี้ยังได้แนะนำข้อมูลและติดตามผลการใช้งานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้บริการด้านกายอุปกรณ์เทียม ชนิดซิลิโคน มีความโดดเด่น ดังนี้ 1.ออกแบบและผลิตขึ้นเฉพาะสำหรับผู้ป่วยในแต่ละราย 2.มีรูปร่างและลักษณะที่ใกล้เคียงกับอวัยวะที่เหลืออยู่ สีของกายอุปกรณ์เทียมคล้ายกับสีผิว        ของผู้ป่วย 3.ความกระชับพอดี 4.เล็บอะคริลิกเสมือนจริง ถูกผลิตขึ้นทีละเล็บเพื่อให้คล้ายกับเล็บของผู้ป่วย                ในขณะเดียวกันสามารถตัดแต่งให้สวยงามตามความต้องการ 5.เมื่อเปื้อนคราบหมึกจากปากกาหรือสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเช็ดทำความสะอาดเพื่อให้คราบจางลงได้ งานกายอุปกรณ์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ สามารถให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพได้อย่างครอบคลุมทั้งด้านหน้าที่การทำงานของอวัยวะ และความสวยงามทดแทนการขาดหาย เสริมสร้างความมั่นใจในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข