สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : สมุนไพร กับโรคด่างขาว

โรคด่างขาว เป็นโรคที่เกิดจากปัญหาของการสร้างเม็ดสีผิว ที่เกิดการทำลาย หรือหยุดการสร้างไป ทำให้เกิดผิวที่ไม่สม่ำเสมอ สีผิวด่างตามผิวหนัง แม้โรคด่างขาวจะไม่อันตรายและไม่สามารถติดต่อได้ ก็ยังสร้างความกังวลใจให้กับผู้ป่วยไม่น้อย

บริเวณที่มักพบได้บ่อยว่าเกิดด่างขาว ได้แก่ ในปาก รอบปากและรอบดวงตา นิ้วมือและข้อมือ รักแร้ ขาหนีบ อวัยวะเพศ นอกจากที่ผิวหนังแล้ว ยังพบรอยด่างได้ตามเยื่อเมือกบุในอวัยวะต่าง ๆ เช่น ในช่องปาก เหงือก อวัยวะเพศ หัวนม รอยขาวที่หนังศีรษะ หรือตำแหน่งที่มีขนซึ่งจะทำให้ผมและขนบริเวณนั้นเป็นสีขาวไปด้วย โรคด่างขาวสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้

  1. โรคด่างขาวทั่วไป (Non-segmental Vitiligo) เป็นประเภทที่พบได้มากที่สุด มักจะมีอาการเกิดขึ้นในบริเวณเดียวกันทั้ง 2 จุดในร่างกาย หรือพบได้หลายตำแหน่งตามร่างกาย และพบได้ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา เช่น หลังมือ แขน รอบดวงตา เข่า ข้อศอก และเท้า
  2. โรคด่างขาวเฉพาะที่ (Segmental Vitiligo) เป็นด่างขาวที่พบเฉพาะบริเวณใดบริเวณหนึ่งของร่างกาย มักเป็นจุดหรือกลุ่มเล็กๆ โดยจะพบมากในเด็ก

สาเหตุของโรคด่างขาว

สาเหตุการเกิดโรคนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่จากการสันนิษฐานพบว่ามีสาเหตุมาจากเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ซึ่งมีหน้าที่ผลิตเม็ดสีผิว (Melanin) อาจหยุดทำงานหรือถูกทำลาย ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานผิดปกติ โดยปกติจะทำหน้าที่ทำลายเซลล์ที่แปลกปลอม เช่น ไวรัส แต่กลับมาทำลายเซลล์หรือเนื้อเยื่อของร่างกายแทน โดยในที่นี้ ระบบภูมิคุ้มกันได้ทำลายเซลล์ผิวหนังเมลาโนไซต์ (Melanocyte) ที่ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีผิว
  • สำหรับบางรายอาจพบว่าเกิดโรคด่างขาวที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตัวเอง เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
  • มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคด่างขาว หรือมีประวัติภาวะแพ้ภูมิตัวเองอื่น ๆ เช่น พ่อหรือแม่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดวิตามินบี 12 (Pernicious Anaemia)
  • เป็นมะเร็งผิวหนังเมโลโนมา (Melanoma) หรือเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • มีการเปลี่ยนแปลงของยีนจำเพาะ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคด่างขาวประเภททั่วไป
  • สารเคมีที่ปล่อยจากปลายประสาทบริเวณผิวหนัง อาจเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนังที่เรียกว่าเมลาโนไซต์ (Melanocyte)
  • มีเหตุกระตุ้น เช่น แดดเผา ความเครียด หรือสัมผัสกับสารเคมีอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย

การรักษาโรคด่างขาว

โรคด่างขาวไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการหรือทำให้รอยด่างขาวที่ปรากฏดูดีขึ้น และวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งมีการตอบสนองต่อการรักษาไม่แน่นอน การรักษาอาจมีผลข้างเคียงและอาจจะต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน โดยวิธีการรักษาในปัจจุบัน ได้แก่

  • ครีมควบคุมการอักเสบ เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับใช้เฉพาะที่ อาจช่วยให้สีผิวกลับมาใหม่ได้ และหากเริ่มใช้ในขณะที่เพิ่งเริ่มเกิดโรค
  • ยาครีมใช้เฉพาะที่ Calcipotriene เป็นยาในกลุ่มวิตามิน ดี สามารถใช้ร่วมกับคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือการบำบัดด้วยการฉายอัลตราไวโอเลต (UV) แต่ยานี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวแห้ง ผื่นขึ้นและคัน
  • ยารักษาโรคที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
  • การรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการฉายแสง เป็นการรักษาที่จะให้ผู้ป่วยใช้ยาซอราเลน ร่วมกับการฉายแสง (Photochemotherapy) แต่จะมีผลข้างเคียง เช่น แดดเผาอย่างรุนแรง แผลพุพอง ผิวคล้ำมาก และเพิ่มความเสี่ยงเป็นต้อกระจกและมะเร็งผิวหนัง และไม่แนะนำให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี รักษาด้วยวิธีนี้
  • การฉายแสงด้วยรังสียูวีบี (UVB) เป็นกระบวนการรักษาที่ง่ายและไม่ต้องใช้ยาซอราเลนร่วมด้วย
  • การรักษาด้วยเลเซอร์
  • วิธีฟอกสีผิว (Depigmentation) เป็นวิธีที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีด่างขาวแพร่กระจายเป็นบริเวณกว้างและการรักษาอื่น ๆ ไม่ได้ผล โดยจะใช้ยาที่มีส่วนประกอบของโมโนเบนโซน (Monobenzone) ทาลงไปบนผิวหนังที่ยังมีสภาพปกติ ซึ่งจะช่วยทำให้สีผิวค่อย ๆ ขาวขึ้นจนใกล้เคียงกับผิวที่เกิดด่างขาว
  • การศัลยกรรม เช่น การปลูกถ่ายผิวหนัง (Skin Grafting) หรือการสัก (Micropigmentation)
  • การรักษาทางเลือก เช่นสมุนไพร

สมุนไพรกับโรคด่างขาว

ยังไม่มีการศึกษา หรือการยืนยันของสมุนไพรต่อโรคนี้อย่างเด่นชัดมากนัก แต่ก็มีการศึกษาบางแห่ง ของต่างประเทศ พบว่า สมุนไพรบางชนิดที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบการไหลเวียนเลือด สามารถใช้เป็นทางเลือกในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ เช่น

  1. จากการศึกษาวิจัยพบว่า แปะก๊วย (Ginkgo Biloba) มีส่วนช่วยให้เกิดการสร้างเม็ดสีผิวอีกครั้งในผู้ป่วยโรคด่างขาวที่มีการแพร่กระจายช้า และพบว่ากรดโฟลิกและวิตามิน บี 12 ร่วมกับแสงแดด อาจช่วยคืนให้เกิดสีผิวกลับมาใหม่ได้ในผู้ป่วยบางราย
  2. บัวบก เป็นพืชตระกูลเดียวกับ แปะก๊วย มีฤทธิ์เย็น ต้านการอักเสบ เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย ฤทธิ์สมานแผล กลไกการรักษาไม่แน่คาดว่าเป็นผลจากฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ภูมิปัญญาสมัยก่อน ให้ตำพอกผสมกับน้ำซาวข้าวหรือน้ำมันมะพร้าวทาผิว
  3. ขมิ้นชัน สารเคอร์คูมิน ในขมิ้นชัน มีความโดนเด่น ในเรื่องของการ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ, ต้านการแพร่กระจาย ต้านการอักเสบ ต้านไวรัส ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา จึงเป็นสมุนไพรทางเลือกที่น่าสนใจตัวหนึ่ง
  4. นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรที่น่าสนใจ สำหรับโรคด่างขาว เช่น สารแคปไซซินจากพริก แตงกวา ชาเขียว พริกไทย(ช่วยเพิ่มการดูดซึมและการออกฤทธิ์เช่นกินร่วมกับขมิ้นชันหรือบัวบก)

กรณีการใช้ยาสมุนไพรเหล่านี้ ไม่เหมาะในผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริน ตั้งครรภ์ ให้นมบุตร มีภาวะตับและไตบกพร่อง รวมถึงผู้ที่ประวัติแพ้สุมนไพรค่ะ

การป้องกันโรคด่างขาว

  • เนื่องจากไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคด่างขาวได้ แต่ผู้ป่วยอาจสามารถดูแลให้ผิวหนังที่เกิดอาการดูดีขึ้นหรือไม่ให้เกิดอาการที่แย่ลง ด้วยวิธีต่อไปนี้
  • ปกป้องผิวจากแสงแดดและรังสียูวี (UV) ด้วยการใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันแสงแดด (SPF) อย่างน้อย 30 ขึ้นไป ควรใช้เป็นประจำและทาซ้ำทุก 2 ชั่วโมง หรือใช้บ่อยขึ้นหากต้องว่ายน้ำหรือมีเหงื่อออกมาก นอกจากนั้นอาจสวมใส่เสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด เพราะการถูกแดดเผาอาจทำให้อาการแย่ลงได้ ที่สำคัญครีมกันแดดยังช่วยให้สีผิวไม่คล้ำลง ทำให้ความแตกต่างของสีผิวปกติกับสีผิวเกิดด่างขาวไม่แตกต่างกันเกินไป
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกปิดผิว เช่น เครื่องสำอาง ช่วยให้บริเวณผิวที่ปรากฏด่างขาวดูดีขึ้นและช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมั่นใจขึ้นได้ ควรทดลองใช้ให้หลากหลายยี่ห้อจนกว่าจะเจอที่เหมาะสมกับตนเอง
  • หลีกเลี่ยงการสักลายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคด่างขาว เพราะเสมือนเป็นการทำร้ายผิว และอาจทำให้เกิดรอยด่างขาวใหม่ขึ้นภายใน 2 สัปดาห์

ปรึกษาหมอออนไลน์ : https://lin.ee/47PRVjiFz