กระทรวงแรงงาน ประสานสธ. และสตม.ในพื้นที่ เร่งตรวจโควิดและเก็บอัตลักษณ์ภายใน 16 มิ.ย. 64

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการปกครอง และสาธารณสุขบริหารจัดการการทำงานคนต่างด้าวอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ แรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันตามมติครม. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ที่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดทันเวลา จะสามารถอยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“ผลการดำเนินงานตามมติครม.เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 พบว่ามีคนต่างด้าวลงทะเบียนทั้งสิ้น จำนวน 654,864 คน จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล (Biometrics) แล้ว 483,021 คน ผ่านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้ว 408,720 คน และได้รับอนุญาตทำงาน (อนุมัติ บต.48) แล้ว 201,107 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ค. 64) ซึ่งแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันกลุ่มนี้จะต้องดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด -19 จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล พร้อมทั้งยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานกับกรมการจัดหางานผ่านระบบออนไลน์ ให้แล้วเสร็จภายใน 16 มิ.ย. 64 จึงสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ มิฉะนั้นจะส่งผลให้มีสถานะเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งมีความผิดทั้งนายจ้าง และแรงงานต่างด้าวเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการของคนต่างด้าวแล้วเสร็จตามกำหนดเวลา กรมการจัดหางานได้มอบหมายให้จัดหางานจังหวัด เร่งประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อร่วมวางแผนและบูรณาการจัดการการตรวจหาเชื้อโควิด -19 และการจัดการเก็บอัตลักษณ์บุคคลทั้งในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่มีนายจ้างยื่นบัญชีรายชื่อ (Name List ) และคนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคลด้วยตนเอง (กรณีไม่มีนายจ้าง) โดยขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประเมินสถานการณ์และแจ้งศักยภาพ ในการตรวจหาเชื้อโควิด -19 ของพื้นที่ในแต่ละวันให้ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดทราบ เพื่อติดตามเร่งรัดนายจ้างให้นำคนต่างด้าวมาดำเนินการตามกำหนดต่อไป

“ทั้งนี้ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการหมั่นติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนให้ทันภายในเวลาที่กำหนด เพราะหากสิ้นสุดระยะเวลากรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จะดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีกับนายจ้าง/สถานประกอบการที่จ้างคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน และคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงาน ซึ่งนายจ้างที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน

หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และไม่ให้จ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท ถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี และหากนายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว มีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ” นายไพโรจน์ฯ กล่าว