รมว.เฮ้ง หารือ ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ ประกันภัยความเสี่ยงผลกระทบที่เกิดจากการฉีดวัคซีนโควิดแก่ผู้ประกันตน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หารือ นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และคณะ ประเด็นประกันภัยความเสี่ยงผลกระทบที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกันตนในการฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ที่ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการหารือร่วมกับ นายมานิตย์ พรหมการีย์กุล ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย และคณะ ประเด็นประกันภัยความเสี่ยงผลกระทบที่เกิดจากการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของผู้ประกันตน โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

โดยนายมานิตย์ กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3  ที่ผ่านมาทำให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ ทั้งในระบบและนอกระบบประกันสังคม ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า รัฐบาลก็ได้เร่งมือเต็มที่ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ มากมายหลายโครงการ ทั้งบริการตรวจเชิงรุกให้บุคคลทั่วไปและตรวจในสถานประกอบการของผู้ประกันตนมาตรา 33 เพื่อเป็นการป้องกัน ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีโครงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่มีความสำคัญกลุ่มใหญ่ที่มีอาชีพต้องสัมผัส ต้องเจอคนจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งผู้ประกันตนก็เต็มใจเตรียมพร้อมที่จะฉีดวัคซีนกันทุกคนในการนี้เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นและมั่นใจของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่จะฉีดวัคซีนจึงขอให้กระทรวงแรงงาน ประกันภัยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดผลกระทบจากการฉีดวัคซีน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนและครอบครัว

นายสุชาติ กล่าวถึงข้อเรียกร้องดังกล่าวว่า ในเบื้องต้นสำนักงานประกันสังคมได้มีประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ ซึ่งจะจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายหรือเกิดผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด- 19

ดังนี้ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจ่ายสูงสุดไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการจ่าย 240,000 บาท กรณีแพ้วัคซีนและจำเป็นต้องรักษาพยาบาลหรือฟื้นฟูจ่าย 100,000 บาท กรณีแพทย์สั่งให้หยุดพักจะจ่ายเงินชดเชยรายวันร้อยละ 50 ของค่าจ้างระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน (250 บาทต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 365 วันต่อปี) เงินทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ (ทุพพลภาพไม่รุนแรง) จ่ายร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 15 ปี เงินทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ (ทุพพลภาพรุนแรง) จ่ายร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดชีวิต เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต หากส่งเงินสมทบ 3 ปี ได้ชดเชย 2 เดือน ส่งเงินสมทบ 10 ปี  ได้ชดเชย 6 เดือน และเงินสงเคราะห์บุตรกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตจะจ่ายเดือนละ 800 บาท จนบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ แต่ละกรณีอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ที่จะเป็นผู้วินิจฉัย

“ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนจะได้รับการจ่ายสิทธิประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ดังนั้นข้อเรียกร้องที่ขอให้จ่ายค่าชดเชยมากกว่าสิทธิประโยชน์ที่ พ.ร.บ.กำหนด ผมจะมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมไปศึกษาในรายละเอียดและความเป็นไปได้ เพื่อเป็นการประกันภัยความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกันตนในการฉีดวัคซีนครั้งนี้” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

+++++++++++++++++++

กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
21 พฤษภาคม 2564