“พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์” โดย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา ในปี 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 ธ.ค. 61) พบผู้ป่วยแล้ว 2,143 ราย จาก 13 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต จังหวัดที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด 5 ลำดับแรก คือ สงขลา สตูล นราธิวาส ภูเก็ต และปัตตานี  จากโปรแกรมตรวจสอบฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบการรายงานผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี กรุงเทพมหานคร และเชียงใหม่”

“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่าช่วงนี้จะมีผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ประกอบกับช่วงนี้ยังมีฝนตกในหลายพื้นที่ อาจเกิดน้ำขังตามภาชนะต่างๆ ทำให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้  โรคไข้ปวดข้อยุงลายเป็นโรคติดต่อนำโดยแมลง  ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ  ผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการไข้สูง ปวดข้อ ข้อบวมหรือข้ออักเสบร่วมกับมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีผื่นหรืออ่อนเพลีย  การป้องกันการแพร่กระจายของโรคที่ดีที่สุด คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง ขัดล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์  2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และนำวัสดุเหลือใช้นำไปขายเป็นรายได้เสริม  และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ ทั้งนี้จะสามารถป้องกันได้ถึง 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย  นอกจากนี้ ประชาชนต้องดูแลตนเองและคนในครอบครัว โดยการป้องกันไม่ให้ถูกยุงลายกัดด้วยการทายากันยุงและกำจัดยุงในบ้าน  หากมีอาการป่วยข้างต้นขอให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422”

*******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค