วศ.ยกระดับการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการทดสอบ สาขาฟิสิกส์ : รายการ Rubber Hardness (Type A)

กรวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยกลุ่มทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ กองความสามารถห้องปฏิบัติการและรับรองผลิตภัณฑ์ (ชน.สผ.) จัดกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ (proficiency testing, PT) ประจำปี 2564 สาขาฟิสิกส์: รายการ Rubber Hardness (Type A) ร่วมกับ กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง กองวัสดุวิศวกรรม วศ. โดยความร่วมมือในการจัดเตรียมตัวอย่างยางซิลิโคนที่มีค่าความแข็งต่างกันจำนวน 3 ค่า เพื่อทดสอบความสามารถของห้องปฏิบัติการ และประกันคุณภาพการทดสอบด้านยางของห้องปฏิบัติการทดสอบยางของประเทศทั้งในภาคอุตสาหกรรม และหน่วยงานวิจัยต่างๆ

โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ชน.สผ. ได้จัดส่งตัวอย่างยางซิลิโคนสำหรับทดสอบความแข็ง ให้แก่ ห้องปฏิบัติการที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 12 ห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการดำเนินการทดสอบค่าความแข็งของยาง และส่งผลกลับมายังศูนย์บริหารจัดการทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เพื่อประเมินผลทางสถิติเปรียบเทียบผลการวัดระหว่างห้องปฏิบัติการ

การวัดค่าความแข็งของยางจะวัดในเชิงความยืดหยุ่นของวัสดุ โดยจะวัดจากแรงต้านทานที่เกิดขึ้นจากแรงกดของเครื่องมือวัดความแข็งที่กดลงไปยังวัสดุ โดยในกิจกรรมนี้จะใช้ตัวอย่างเป็นยางซิลิโคนที่มีความแข็งต่างกัน 3 ค่า และกำหนดให้ใช้เครื่องมือวัดสำหรับวัดความแข็งของตัวอย่างยางซิลิโคนด้วยเครื่องมือวัดความแข็งชนิดสเกล A (shore A) ตาม ISO 48-4:2018 การหาค่าความแข็งของยาง มีประโยชน์มากมายในอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆมากมาย เช่น อุตสาหรรมด้านยานยนต์ อุตสาหกรรมด้านเคมี และอุตสาหกรรมด้านผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ

ทั้งนี้ วศ. ส่งเสริมการเข้าร่วมกิจกรรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยันสมรรถนะและความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบด้านยาง ปรับปรุงพัฒนาความสามารถของห้องปฏิบัติการ เช่น ปัญหาจากกระบวนการวัดหรือทดสอบ การใช้เครื่องมือ หรือความสามารถของบุคลากร และเป็นประโยชน์ต่อห้องปฏิบัติการในการจัดการความเสี่ยง และเป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงประสิทธิภาพและบริหารความเสี่ยงของห้องปฏิบัติการ อีกทั้งใช้ประกอบการยื่นขอการรับรองตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพิ่มความมั่นใจให้กับลูกค้าของห้องปฏิบัติการและยกระดับคุณภาพสินค้าให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล