กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับเครือข่ายภาคีจัดงานครบรอบ 70 ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ 1 ปี การประกาศวาระแห่งชาติ

วันที่ 14 ธันวาคม 2561 เวลา 14.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กระทรวงยุติธรรม โดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ร่วมกับ กรมองค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ  สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ ผู้ลี้ภัย (UNHCR ) ประจำประเทศไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานครบรอบ 70 ปี การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ 1 ปี การประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี เอกอัครราชทูตวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ /นายสมณ์ พรหมรศ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ /Ms. Cynthia Veliko ผู้แทนจาก OHCHR ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย นางสาวไปรยา ลุนด์เบิร์ก ทูตสัตถวไมตรี UNHCR ประจำประเทศไทย       กล่าวสุนทรพจน์ ในหัวข้อ ‘มุ่งสู่สังคมที่ห่วงใยและแบ่งปัน : ประสบการณ์การทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน’

นายสมณ์ พรหมรศ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) เป็นตราสารด้านสิทธิมนุษยชนฉบับแรกของสหประชาชาติที่ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2491 โดยประเทศไทยเป็น 1 ใน 48 ประเทศแรกในโลกที่ร่วมรับรองปฏิญญาฯ ดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิต่างๆ สำคัญ เช่น สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ฯลฯ ทั้งนี้ ปฏิญญาฯ ถือเป็นเอกสารสำคัญที่วางมาตรฐานให้กับประชาคมโลกในการส่งเสริม คุ้มครอง และสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นพื้นฐานให้กับการพัฒนากฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับระหว่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เอกสารสำคัญของประเทศไทยที่มีรากฐานโดยตรงจากปฏิญญาฯ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฯ ฉบับแรกที่มีการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้อย่าง     ชัดแจ้งในกฎหมาย รวมทั้งเป็นจุดกำเนิดให้เกิดการพัฒนากฎหมาย นโยบาย และแนวปฏิบัติในหลายๆ เรื่อง รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมครั้งใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริม คุ้มครอง และสร้างหลักประกันสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนใประเทศไทยจวบจนทุกวันนี้

สำหรับการประกาศวาระแห่งชาติ: สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 นั้น เป็นความตั้งใจที่สำคัญของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลในการยกระดับให้ประเด็น                 “สิทธิมนุษยชน” เป็นนโยบายสำคัญลำดับต้นของประเทศ โดยเชื่อมโยงสิทธิมนุษยชน เข้ากับนโยบายต่าง ๆ      ทั้งยุทธศาสตร์ชาติ /Thailand 4.0/ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal : SDGs) ตลอดจนกำหนดให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินกิจกรรมโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ ด้วยความเชื่อมั่นว่าการบูรณาการสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินงาน จะส่งผลเชิงบวกต่อการพัฒนาประเทศในภาพรวมอันจะนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อไป

ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ 1 ปี การประกาศวาระแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชน ขอยืนยันความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของรัฐบาลในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อันจะเห็นได้จากการออกนโยบายและปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล การเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  การจัดทำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  การจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นประเทศแรกในเอเชีย  รวมทั้งล่าสุดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อวางนโยบาย ส่งเสริม และกำกับติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ให้เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชน เพื่อยืนยันว่าบุคคลทุกคน มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในฐานะเป็นหน่วยงานหลักด้านสิทธิมนุษยชนของภาครัฐจะทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการคุ้มครองและเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเคารพสิทธิมนุษยชน ให้สมกับเจตนารมณ์ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระชาติ ต่อไป