กรมเจ้าท่า เดินหน้า 2 ภารกิจหลัก เร่งขุดลอกร่องน้ำและกำจัดผักตบชวา บรรเทาความเดือดร้อนประชาชน

นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่า ได้เร่งภารกิจขุดลอกร่องน้ำในหลายพื้นที่ โดยตนได้สั่งการสำนักพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำ สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 2 เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกเพื่อแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะบ้านเรือนประชาชน น้ำกัดเซาะตลิ่ง อุทกภัย และภัยแล้ง บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลพยุหะ ตำบลน้ำทรง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยนำเรือเจ้าท่า ข.33 เรือเจ้าท่า 233 เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน เปิดหน่วยปฏิบัติงานฯ เมื่อ 16 ธันวาคม 2563 ตามแผนความกว้างที่ก้นร่องน้ำตามแผนการขุดลอกกว้าง 40 เมตร ยาว 1,550 เมตร ความลึก 6 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 250,058 ลบ.เมตร ผลการปฏิบัติงาน ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 คิดเป็น 78.36 % โดยนำวัสดุขุดลอกเสริมบริเวณพื้นที่กัดเซาะ พร้อมปรับพื้นที่บริเวณริมตลิ่งเพื่อรักษาแนวตลิ่งให้คืนสู่สภาพเดิม

สำหรับการขุดลอกบริเวณแม่น้ำกกสายเก่า ตำบลรอบเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 7 ปฏิบัติงานโดยใช้เครื่องจักรเป็นรถขุด เปิดหน่วยฯ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เริ่มขุดลอก ตั้งแต่ กม. 0 + 000 ถึง กม. 1 + 552 ระยะทาง 1,552 เมตร ขุดลอกร่องน้ำกว้างประมาณ 10 เมตร ความลึก 388 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณวัสดุขุดลอก 15,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนของชาวชุมชนประมาณ 1,100 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 5,000 คน จากปัญหาความตื้นเขินของแม่น้ำที่เกิดจากตะกอนทรายและวัชพืช ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จตามแผนงาน สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้มีน้ำที่ใสสะอาด ปลอดภัย สำหรับใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ส่วนความคืบหน้าการขุดลอกแม่น้ำสงคราม ตำบลทุ่งฝน อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี ตำบลคำสะอาด อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 8 เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดโดยใช้เครื่องจักรเป็นรถขุด ขก.5 ดำเนินการขุดลอกเพื่อแก้ไขปัญหาการตื้นเขินของลำน้ำ ที่เกิดจากตะกอนดินและวัชพืช เปิดหน่วยปฏิบัติงานขุดลอกเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 ขุดลอกตั้งแต่ กม. ที่ 427+500 ถึง กม.ที่ 430+650 ระยะทาง 3,150 เมตร ความกว้าง 20-40 เมตร ลึกประมาณ 155 เมตร (จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) ปริมาณวัสดุขุดลอก 91,666 ลูกบาศก์เมตร ระยะเวลาดำเนินการ 86 วัน โดยขุดลอกเพื่อเพิ่มความกว้างและความลึกของร่องน้ำ เพิ่มพื้นที่ในการกักเก็บน้ำ แก้ไขปัญหากระแสน้ำกัดเซาะตลิ่ง รวมทั้งบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ผลการปฏิบัติงานขุดลอก ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ได้ ระยะทาง 710 เมตร ปริมาณวัสดุขุดลอก 20,995 ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 22.90 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้ลำน้ำมีพื้นที่กักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคช่วงฤดูแล้ง และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในช่วงฤดูน้ำหลาก

อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกหนึ่งภารกิจด้านการแก้ไขปัญหาการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช โดยสั่งการสำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 1 เปิดหน่วยปฏิบัติงานเก็บผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลธรรมมูล ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาที่มีปริมาณ 35,000 ตัน โดยเร่งด่วน

เพื่อป้องกันการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชที่ไหลมารวมกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 ใช้เรือเจ้าท่า ผ.4,ผ.401,ผ.402,ผ.403 เป็นเครื่องจักรปฏิบัติงาน มีประสิทธิภาพในการเก็บปริมาณ 300 ตัน/วัน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน มิถุนายน 2564 ผลการจัดเก็บ ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ได้ปริมาณ 21,805 ตัน คิดเป็น 62.30 % และการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี คลองบางพระครู ตำบลบ้านขล้อ อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดำเนินการโดยเรือเจ้าท่า ผ.5 ผ.6 และผ.1 และเรือเจ้าท่า ผ.3 ตำบลสลักเหนือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เข้าปฏิบัติงานเพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรทางน้ำ การระบายน้ำและปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนต่อไป