กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยผลการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและปรับปรุงพื้นที่ทำกินของชาวบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปรับปรุงพื้นที่ทำกินของชาวบ้านบางกลอยหมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  ดังนี้

ผืนป่าแก่งกระจานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายมาตั้งแต่อดีต จากการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพื้นที่บริเวณที่เรียกว่า “ใจแผ่นดิน” ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณเขตแดนไทย – เมียนมา และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A นั้น กรมการปกครองยืนยันว่า ไม่เคยจดทะเบียนบ้านใจแผ่นดินในสารบบของกรมการปกครองแต่อย่างใด โดยในปี พ.ศ. 2539 พื้นที่บริเวณใจแผ่นดิน เกิดปัญหาชายแดนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ และมีการสูญเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนพบว่า มีกลุ่มคนเข้าไปตั้งเพิงพักในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ใกล้ฐานปฏิบัติการใจแผ่นดิน บริเวณบางกลอยบนและห้วยสามแพร่ง โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด หน่วยงานความมั่นคง

จึงได้เจรจาให้คนกลุ่มดังกล่าวลงมาอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ที่รัฐจัดให้ บริเวณพื้นที่บ้านบางกลอย (ล่าง) ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้กับบ้านโป่งลึกที่มีกลุ่มชาวกะเหรี่ยงอาศัยอยู่มาก่อนแล้ว เพื่อให้ได้รับสวัสดิการพื้นฐาน เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย และมีการจัดทำโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยหน่วยงานของรัฐอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านตามสารบบของกรมการปกครอง ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยกลุ่มคนจำนวน 57 ราย (ครอบครัว) ยินยอมเคลื่อนย้ายมาอยู่อาศัยที่บ้านบางกลอย (ล่าง) และมีบางส่วนขอกลับไปอยู่อาศัยในฝั่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ต่อมากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดิน เพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรที่อยู่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณบ้านโป่งลึก – บางกลอย (ล่าง) หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 2 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในปี พ.ศ.2550 ,ปี พ.ศ.2561, ปี พ.ศ.2563 และต่อมาในปี พ.ศ.2564 ได้ทำการสำรวจอย่างครอบคลุมอีกครั้ง เพื่อดำเนินการตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 โดยได้ดำเนินการสำรวจการอยู่อาศัยและทำกินของราษฎร ในพื้นที่บริเวณบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 และบ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งจัดสรรโดยรัฐบาล มาตั้งแต่ พ.ศ. 2539

ทั้งนี้ พบว่าเมื่อเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี การถือครองที่ดินของผู้ได้รับการจัดสรรที่ดินดั้งเดิมเมื่อปี พ.ศ.2539 จำนวน 57 ราย ได้เปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือ มีประชากรกลุ่มเดิม จำนวน 51 ราย ถือครองที่ดิน 104 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 494-0-97 ไร่ มีประชากรกลุ่มเดิม 3 ราย เสียชีวิตไปแล้ว และประชากรกลุ่มเดิมอีก 3 ราย ไปอยู่อาศัยกับญาติ นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการขยายพื้นที่ทำกินของประชากรกลุ่มใหม่ที่ไม่ใช่กลุ่มดั้งเดิม 57 ราย เป็นครอบครัวขยายและครอบครองที่ดินเพิ่มเติม จำนวน 44 ราย 50 แปลง รวมเนื้อที่ประมาณ 332-2-35 ไร่

นับแต่เวลาที่ชาวบ้านมาอยู่อาศัยที่บ้านบางกลอย (ล่าง) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 20 ปี ผืนป่าบริเวณใจแผ่นดิน และบริเวณบางกลอย (บน) ได้ฟื้นคืนสภาพความสมบูรณ์ตามธรรมชาติดังเดิม เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า พบร่องรอยหลักฐานชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่หายากจำนวนมาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องสงวนและคุ้มครองพื้นที่บริเวณใจแผ่นดินไว้ อันเป็นส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นในอุทยานแห่งชาติ ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิมไม่ให้ถูกทำลาย เป็นป่าต้นน้ำ ประกอบกับพื้นที่รองรับการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่จัดสรรโดยรัฐบาลในบริเวณบ้านโป่งลึก – บางกลอย (ล่าง) มีความเหมาะสม ในการอยู่อาศัยและทำกิน โดยกรมอุทยานฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เหมาะสมต่อการดำรงชีพตามสมควร สำหรับชาวบ้านทุกวัยทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างดำเนินการเคลื่อนย้ายชาวบ้านมาอยู่อาศัยที่บ้านโป่งลึก – บางกลอย (ล่าง) นั้น ในช่วงปี พ.ศ. 2541 – 2552 กลับพบชาวบ้านบางส่วน ย้อนกลับขึ้นไปบริเวณพื้นที่บางกลอย (บน) และทำการบุกรุก โค่นล้มต้นไม้ใหญ่ เพื่อปลูกข้าวไร่หมุนเวียนและพริก รวมทั้งพบการปลูกกัญชา ซึ่งเป็นการกระทำความผิดกฎหมาย พนักงานเจ้าหน้าที่ จึงมีความจำเป็นต้องดำเนินคดีกับผู้บุกรุกตามกฎหมาย โดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และพืชผลอาสินที่บุกรุกและฟื้นฟูพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกให้ฟื้นฟูกลับสู่สภาพธรรมชาติเดิม ทั้งนี้ ประเด็นการกลับไปที่ใจแผ่นดิน ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษากรณีผู้ฟ้องคดี ขอกลับคืนพื้นที่ใจแผ่นดิน ว่าผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทได้

เนื่องจากที่ดินพิพาทอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และผู้ฟ้องคดีไม่มีหนังสือสำคัญแสดงสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานแสดงการได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจกำหนด คำบังคับให้ผู้ฟ้องคดีกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยให้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่เดิมได้ ประกอบกับนายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ที่ระบุในคำพิพากษาว่าเกิดที่ใจแผ่นดิน นั้น มีพยานหลักฐานยืนยันว่า นายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ได้เคยให้ถ้อยคำไว้กับสภาทนายความ รวมถึงมีคลิปวิดีโอ ว่าตนเกิดที่ต้นน้ำภาชี จังหวัดราชบุรี เกิดวันที่ เดือน ปีใดไม่ทราบ และได้อพยพข้ามมาอยู่บ้านบางกลอย (บน) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2484 อันแสดงว่านายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ไม่ได้อยู่ในผืนป่าแก่งกระจานมาแต่เดิม แต่ย้ายถิ่นฐานมาจากที่อื่น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจปฏิบัติการพิเศษผู้พิทักษ์อุทยานแห่งชาติและสัตว์ป่า (พญาเสือ) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ส่วนยุทธการด้านป้องกันและปราบปราม สำนักงานสนับสนุนการป้องกันปราบปรามที่ 1 (ภาคกลาง) หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 144 กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 1 (ค่ายฝึกการรบพิเศษแก่งกระจาน) กองการบิน สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกตรวจลาดตระเวนการกระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ตามแผนการบินตรวจสภาพป่า ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ตรวจพบพื้นที่ป่าถูกบุกรุก แผ้วถางป่า บริเวณบางกลอย (บน) จำนวน 18 แปลง เนื้อที่ 156 – 3 – 69 ไร่ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และไม่อยู่ในบริเวณพื้นที่สำรวจถือครองตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 แต่อย่างใด คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดพื้นที่บุกรุก จำนวน 18 แปลง เนื้อที่ 156 – 3 – 69 ไร่ และจับกุมผู้ต้องหา จำนวน 22 ราย นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน ตาม ปจว. ข้อ 4 เวลา 12.00 น. คดีอาญาที่ 65/2564

ปัจจุบัน มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าไปดำเนินกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและปรับปรุงพื้นที่ทำกินของชาวบ้านบางกลอยหมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สรุปดังนี้

1.สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 7 จ้างแรงงานสำรวจแหล่งน้ำเบื้องต้น จำนวน 10 ราย

2.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 8 พัฒนาน้ำบาดาล โดยการขุดเจาะสำหรับการบริโภคในพื้นที่ รวม 3 บ่อ มีน้ำ 1 บ่อ บริเวณโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนบ้านโป่งลึก หมู่ที่ 2 ตำบลแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว

3.สถานีควบคุมไฟป่าแก่งกระจานตอนบน สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จ้างเหมาชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย ซึ่งตกงานเนื่องจากการเลิกจ้างจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 เพื่อทำหน้าที่พนักงาน งานประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ จำนวน 5 อัตรา อัตราละ 9,000 บาท จำนวน 7 เดือน เป็นเงิน 315,000 บาท ทั้งนี้ เป็นการจ้างงานเพิ่มเติมจากการจ้างชาวกะเหรี่ยงทำงานในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จากเดิม 52 อัตรา เป็น 57 อัตรา

4.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ดำเนินโครงการบ้านโป่งลึก หมู่ 2 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อยู่ระหว่างการขอดำเนินโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 7.5 KW

5.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอย – บ้านโป่งลึก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ได้จัดทำแปลงสาธิต จำนวน 8 แปลง ๆ และ 10 ไร่ รวม 80 ไร่ และสำรวจพื้นที่จัดเครื่องสูบน้ำ ที่ตั้งถังน้ำ และแนวท่อน้ำเพื่อทำระบบน้ำสนับสนุน แปลงสาธิต จากแม่น้ำเพชรบุรี ถึงแปลงสาธิต

อนึ่ง สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่ง ที่ 67/2564 ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2564 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี พร้อมทั้ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ จำนวน 5 คณะอนุกรรมการ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง แต่อาจมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดเนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)