SACICT CRAFT KNOWLEDGE CENTER

SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) เป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์ ส่งเสริม พัฒนาต่อยอดและสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งส่งเสริมด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ มุ่งสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย หน่วยงานพันธมิตร และนักสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ เพื่อต่อยอดและผลักดันให้งานหัตถศิลป์ไทยได้รับความนิยมในวงกว้าง รวมถึงการเป็นผู้ชี้นำทิศทางและสร้างโอกาสให้กับงานหัตถศิลป์ไทย หรือ Enhancing Navigator ผ่านกระบวนการพัฒนาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับงานหัตถศิลป์ไทย

นางอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา SACICT ได้เชื่อมโยงการทำงานระหว่างครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิก ชุมชนหัตถกรรม และนักออกแบบ เพื่อพัฒนาผลงานใหม่ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับชิ้นงาน แต่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์และเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม แล้วนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับชีวิตในยุคปัจจุบันอย่างลงตัว เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นสากลและเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

ในปี 2562 การทำงานเพื่อเป็นเข็มทิศชี้นำทางให้กับงานหัตถศิลป์ไทยของ SACICT ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวสู่การเป็นองค์กรระดับประเทศที่เต็มเปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้และเป็นศูนย์กลางด้านงานหัตถศิลป์ไทยทั้งแบบดั้งเดิมและร่วมสมัย ให้กับผู้ที่สนใจในงานหัตถศิลป์ กลุ่มสมาชิก และผู้ประกอบการงานหัตถศิลป์ในประเทศไทย

กลุ่มผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่ SACICT วางแผนพัฒนาต่อยอด ได้แก่ กลุ่มเครื่องไม้ เครื่องโลหะ เครื่องทอ (ผ้าชาติพันธุ์/ผ้าพื้นถิ่น) เพื่อให้งานหัตถศิลป์เหล่านี้เข้าไปมีบทบาทในชีวิตประจำวันได้อย่างกลมกลืน ตลอดจนนำรายได้คืนกลับมาสู่ชุมชนและผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ โดยจะดำเนินงานครอบคลุมใน 3 มิติ คือ

SMART CRAFT การจัดทำระบบสืบค้นข้อมูลองค์ความรู้ของผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ และการเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ระดับครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม และสมาชิก SACICT

CRAFT STUDIO การบูรณาการร่วมกันระหว่างครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม สมาชิก SACICT ชุมชนหัตถกรรม และนักออกแบบ พัฒนาชิ้นงานให้เกิดการยอมรับและนำไปใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยคำนึงถึงการลดต้นทุน เพิ่มการผลิต หรือการคิดค้นวัสดุใหม่ขึ้นมาทดแทนหากวัสดุนั้นหมดไป

CRAFT SOCIETY การสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศให้กับงานหัตถศิลป์ไทย  เชื่อมโยงผู้ประกอบการกับเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าและผู้ที่สนใจงานหัตถศิลป์เข้าด้วยกัน สร้างกระแสความนิยม และขยายเวทีและช่องทางการค้าให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ SACICT ยังวางแผนจัดกิจกรรม “เส้นทางสายผ้าทอ” อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่นและผ้าชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ มาออกแบบให้เหมาะกับการนำไปใช้งานในชีวิตประจำวัน และการขยายตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ปีก่อนหน้านี้ได้เน้นการสร้างการรับรู้และการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไทยร่วมกับนักออกแบบชั้นนำเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ผลิต

อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในปี 2562 คือการจัดงาน Craft Trend Show 2019 เป็นงานที่รวบรวมผลงานหัตถศิลป์ไทย ที่ผ่านการพัฒนารูปแบบโดยช่างผู้เชี่ยวชาญกับนักออกแบบ ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยของ SACICT ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งปัจจุบัน เพื่อให้ผู้สนใจนำแรงบันดาลใจกลับไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ อาทิ Craft Trend , Innovative Craft Award , Cross Cultural Craft , Sustainable Crafts , Signature Collection , Craft the Future เป็นต้น

ต่อจากนี้ไป SACICT เชื่อมั่นว่างานหัตถศิลป์ไทยจะสามารถเติบโตและเป็นที่นิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยความมีเสน่ห์ของงานหัตถศิลป์ไทย บวกกับความประณีตสวยงาม และมีอัตลักษณ์ชัดเจน สามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ผสมผสานกับการใช้ในชีวิตประจำวันได้ และเป็นโอกาสทางธุรกิจทัดเทียมกับคู่แข่งในระดับสากลได้อย่างยั่งยืน